รองนายกฯประวิตร ห่วงใยพี่น้องลุ่มเจ้าพระยา สั่งทุกหน่วยงานลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด

Featured Video Play Icon
วันที่ 22 ก.ย. 64 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่10 ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล และโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 20 -24 ก.ย. 64 จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าจากทางตอนบน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มตามไปด้วย นั้น ปัจจุบัน(22 ก.ย.64 เวลา 06.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสรรค์ มีระดับน้ำในอัตรา 1,937 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 3.77 เมตร กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรารวม 477 ลบ.ม./วินาที ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,610 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย ทั้งนี้ ได้ทำการแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องแล้ว หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบต่อไป
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่งตะวันออก ลงคลองชัยนาท-ป่าสัก , คลองชัยนาท-อยุธยา และฝั่งตะวันตก ลงคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และเเม่น้ำน้อย) ในอัตรารวม 425-500 ลบ.ม./วินาที พร้อม ควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ไม่เกิน +16.50 ม.(รทก.) ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำป่าสัก ผ่านทางประตูระบายน้ำปากแม่น้ำลพบุรี และประตูระบายน้ำปากคลองบางแก้ว ในอัตรารวม 60-80 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา พร้อมทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนทุกภาคส่วนให้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำและผลกระทบที่จะเกิดต่อพื้นที่ท้ายน้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นทุ่งฝั่งตะวันออก สามารถรับน้ำได้ 437 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน(22 ก.ย.64) เริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งแล้วรวม 22.49 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งฝั่งตะวันตก สามารถรับน้ำได้ 1,017 ล้าน ลบ.ม. เริ่มรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว 2.68 ล้าน ลบ.ม. หลังจากนี้ จะทยอยรับน้ำเข้าทุ่งให้ครบตามเป้าหมาย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ภาคกลางให้ได้มากที่สุด และยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้อีกด้วย
ด้านปัญหาอุทกภัยพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้สามารถระบายน้ำได้เพียง 1,200 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับการรับน้ำเข้าคลองโผงเผงและคลองบางบาลไปลงแม่น้ำน้อยทำได้เพียง 530 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มักจะประสบปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี(2562-2566) เพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตร ปัจจุบัน(22 ก.ย. 64) มีผลดำเนินโครงการฯคืบหน้าไปแแล้วประมาณร้อยละ 20 ของแผนฯ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในแก่พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนสุดท้ายให้ได้มากที่สุด พร้อมเตรียมรับมือน้ำหลากโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในการหน่วงน้ำ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้า พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน