ผีเสื้อหางติ่งบราซิล เป็นแมลงคุ้มครองในบัญชีที่ 1 แห่งอนุสัญญา CITES “ห้ามค้าโดยเด็ดขาด” แล้วไซเตสรวมถึงบัญชีหมายเลข 1 คืออะไร กำหนดไว้อย่างไรบ้าง
กรณีมติที่ประชุมสมัยสามัญภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ [Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)] ครั้งที่ 18 เมื่อ พ.ศ. 2563
กำหนดให้ “ผีเสื้อหางติ่งบราซิล” Parides burchellanus เป็นแมลงคุ้มครองในบัญชีที่ 1 แห่งอนุสัญญา CITES (CITES Appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์
ไซเตส คืออะไร
ไซเตส หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) เป็นความตกลงระดับนานาชาติระหว่างรัฐบาลของประเทศ/รัฐต่างๆ ซึ่งมีการลงนามรับรองจากผู้แทน จำนวน 21 ประเทศ (รวมประเทศไทย) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 (ค.ศ. 1973) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ. 1975) ในปี พ.ศ. 2527 ได้มีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการไซเตส (CITES Secretariat) ขึ้น ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) จึงได้ย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่ ณ กรุงเจนีวา จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิก 182 ประเทศ
สำนักเลขาธิการไซเตส บริหารงานโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากประเทศสมาชิก สำหรับประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ขอตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนรายปีดังกล่าว
อนุสัญญาไซเตส มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม โดยการสร้างเครือข่ายทั่วไปในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศทั้งสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีชีวิต ซาก และผลิตภัณฑ์
การควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่ารวมถึงผลิตภัณฑ์ ไซเตสมีการควบคุมอย่างไร
สำหรับการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศจะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) และหนังสือรับรอง (Certificate) ในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) ส่งกลับออกไป (Re-export) และนำเข้าจากทะเล (Introduction from the Sea)
ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาไซเตสควบคุม (CITES species) จะระบุไว้ใน บัญชีหมายเลข 1 2 และ 3 (Apendices) ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
บัญชี 1: เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย ตัวอย่างชนิดพันธุ์ในบัญชี 1 เช่น ช้างเอเชีย เสือโคร่ง ลิงอุรังอุตัง จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม เต่ามะเฟือง ปลายี่สกไทย เป็นต้น
บัญชี 2 : เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ สามารถค้าได้แต่ต้องมีการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ ทั้งนี้ชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 ยังครอบคลุมถึงชนิดพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน (look-alike) ด้วย
โดยประเทศส่งออกจะต้องออกใบอนุญาตส่งออกเพื่อรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ ตัวอย่างชนิดพันุธุ์ในบัญชี 2 เช่น ลิ่น อีเห็นลายพาด นกขุนทอง เต่านา งูเหลือม เป็นต้น
บัญชี 3 : เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของภาคีใดภาคีหนึ่งอยู่แล้ว และต้องการขอความร่วมมือจากภาคีอื่นๆ ช่วยควบคุมการค้าด้วย ตัวอย่างชนิดพันุธุ์ในบัญชี 3 เช่น ควายป่า (เนปาล) นกกระทาดงปักษ์ใต้ (มาเลเซีย) เต่าอัลลิเกเตอร์ (สหรัฐอเมริกา) หอยเป๋าฮื้อแอฟริกาใต้ (แอฟริกาใต้) เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีการกำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ต้องได้รับอนุญาต ใบอนุญาต หรือใบรับรอง ก่อนการนำเข้าหรือส่งออก ตาม ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ซึ่งจะมีการปรับปรุงบัญชีภายหลังการประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส (Conference of Parties: CoP) ในแต่ละครั้ง
ที่มาผีเสื้อ : กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้
อ้างอิงไซเตส :http://portal.dnp.go.th/Content/citesdnp?contentId=1598
อ้างอิงการควบคุม :http://portal.dnp.go.th/Content/citesdnp?contentId=1600
ขอขอบคุณข้อมูล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช