การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าในอดีตเคยได้รับการยกย่องให้อยู่ระดับแถวหน้าของโลก หากแต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งสูงมากกว่าวันละ 10,000 ราย ได้ทำให้สถานพยาบาล – บุคลากรทางการแพทย์ ต่างตกอยู่ในสภาพอ่อนล้า-หลังแอ่น เพราะภาระงานเกินกว่าศักยภาพที่จะแบกรับต่อไปได้อีก เพื่อบรรเทาสถานการณ์ก่อนที่ระบบบริการจะล่มสลาย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้จัดระบบการดูแลเพิ่มเติม โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการจัดบริการ ตัวอย่างเช่น การจัดทำระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) ที่ประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีการสื่อสาร-โทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งนอกจากจะรวดเร็วแล้วยังครอบคลุมการให้บริการได้อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี หากนับย้อนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก ณ ประเทศจีน จนถึงขณะนี้ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดใหญ่มาแล้วถึง 4 ระลอก ซึ่งแต่ละระลอกล้วนแต่มีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกันออกไป เช่น การระบาดในกลุ่มก้อนของแรงงานข้ามชาติ การระบาดในพื้นที่เขตเมือง ฯลฯ ทว่า การระบาดทั้ง 4 ระลอกนั้น กลับมีจุดร่วมอยู่ด้วยกันประการหนึ่ง นั่นก็คือการที่หุ้นส่วนทางสังคมได้เข้ามาทำงานกันแบบล่มหัวจมท้าย เพื่อหนุนเสริมมาตรการของภาครัฐในการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน หรือที่ชัดเจนที่สุดก็คือ “ภาควิชาการ” โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา-มหาวิทยาลัย ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรทรงคุณค่าจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ งานวิจัย บุคลากร งบประมาณ ฯลฯ เราจึงเห็นภาพของการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์มาโดยตลอด
ตัวอย่างหนึ่งคือ การพัฒนานวัตกรรมการวิเคราะห์และรายงานการใช้หน้ากากอนามัยเป็นรายพื้นที่แบบทันท่วงที (real-time) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของ ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร จาก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพและวิดีโอที่สามารถตรวจนับได้ว่ามีผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยจำนวนเท่าใด สวมใส่อย่างถูกต้องหรือไม่ มีผู้ไม่สวมใส่จำนวนเท่าใด ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินพฤติกรรมและประเมินว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือการคิดค้น นวัตกรรมระบุตำแหน่งลิ่มเลือดในสมองอัตโนมัติบนภาพ NCCT ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือด (Middle Carebral Artery) อุดตันในระยะเฉียบพลัน อันเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่คอยช่วยเหลืองานทางด้านการแพทย์การสาธารณสุข ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัล “เหรียญเงิน” จากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์ ดร.ณัฐสุดา เกาทัณฑ์ทอง จาก SIIT เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีส่วนสำคัญต่อการรับมือวิกฤตสุขภาพที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงวิกฤตการณ์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกแน่นอน ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยและนวัตกรรมอย่างจริงจัง
ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากจะสนับสนุนองค์ความรู้และสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัยเพื่อสู้รบกับโควิด-19 เป็นการเฉพาะหน้าแล้ว สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธรยังให้ความสำคัญกับการ “สร้างคนนวัตกรรม” ด้วยองค์ความรู้สากล ซึ่งหมายถึงการวางรากฐานอันมั่นคงให้กับประเทศไทย
SIIT จึงได้พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน นอกจากจะมีระบบ SIIT Lecture Note System แล้ว ยังเตรียมรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน คือ On-site, Live Streamed และ On-demand เพราะทางสถาบันเชื่อว่าการที่นักศึกษาได้ใช้ชีวิต ได้ศึกษา ทดลอง จะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่ามากไปกว่านั้น เพื่อทลายข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเปิดประตูแห่งโอกาสให้แก่นักเรียน-คนรุ่นใหม่ มุ่งสู่เส้นทางของการเป็นคนนวัตกรรมในยุค Next Normal ในปีการศึกษา 2565 นี้ SIIT ตัดสินใจขยาย “โครงการสอบชิงทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ (Outstanding Student Program:OSP)” โดยจะมอบทั้งสิ้น 100 ทุนการศึกษา โดยจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ก.ย. นี้ พร้อมกับการจัด SIIT Online Workshop “Choose Your Right Workshop” ครอบคลุม 9 สาขาวิชา เพื่อสร้างทางเลือกแบบ 360 องศา ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายได้เข้าใจถึงการเรียนการสอนในทุกมิติ สามารถเลือกเรียนได้อย่างถูกต้อง ตรงกับทักษะและความต้องการที่แท้จริง การดำเนินงานทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้ความมุ่งหวังสูงสุดของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร นั่นคือการผลิตบัณฑิตมาร่วมกันดูแลสังคม ซึ่งหมายถึงความยั่งยืนของประเทศไทยในท้ายที่สุด