สธ.เปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทาง เพิ่มทางเลือกประชาชน ลดแออัด ลดรอคอย

กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพและความพร้อมเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ ประชาชนไม่ต้องลางานไปพบแพทย์ เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงบริการหลังเลิกงานทุกสิทธิ์ จ่ายเฉพาะส่วนต่าง ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเวลาราชการ

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลลำปาง ว่า เขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เปิดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการสำหรับประชาชนที่ต้องทำงานในเวลาราชการ อาทิ ข้าราชการ ผู้มีสิทธิประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ต้องลางานไปพบแพทย์ สามารถเลือกตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ต้องการ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อม จัดบริการเพื่อเพิ่มทางเลือกการเข้าถึงบริการหลังเลิกงานทุกสิทธิ์ ลดความแออัดและระยะเวลารอคอยพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยจ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนต่างตามสิทธิ เนื่องจากโรงพยาบาลภาครัฐมีผู้รับบริการเพิ่มสูงขึ้น การรอคอยคิวผ่าตัดหรือการตรวจพิเศษต่าง ๆ ในเวลาราชการมีระยะเวลานาน ดังนั้นการเปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขึ้น ยังเป็นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลมีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงด้านการเงินการคลังให้กับหน่วยบริการภาครัฐได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 และประกาศที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ โดยกำหนดนโยบายการจัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ อัตราค่าบริการ อัตราค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดบริการ เพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกรับบริการจากแพทย์เฉพาะทาง เบิกได้ตามสิทธิ และจ่ายส่วนต่างตามประกาศฯ ของกระทรวงสาธารณสุข  ข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2562 โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเปิดบริการแล้ว 15 แห่ง จะเปิดในเดือนกุมภาพันธ์อีก 4 แห่ง กรมสุขภาพจิตเปิดที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์อีก 14 แห่งจะทยอยเปิดบริการในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่หากมีแพทย์เฉพาะทางและมีความพร้อม ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

“ในการเปิดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ ทุกโรงพยาบาลจะมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและเจ้าหน้าที่ ผลการสำรวจความคิดเห็นในโรงพยาบาลนำร่อง 7 แห่งในปี 2561 ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่เห็นด้วยกับการเปิดบริการกว่าร้อยละ 95 ส่วนในปีงบประมาณ 2562 โรงพยาบาลที่ได้รับอนุมัติให้เปิดบริการทุกแห่งได้จัดทำประชาพิจารณ์แล้ว โดยประชาชนเห็นด้วยกว่าร้อยละ 98 (บางแห่งร้อยละ 100) และเจ้าหน้าที่เห็นด้วยกว่าร้อยละ 95” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

*****************************************