เถาวัลย์เปรียง เป็นสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยรู้จักใช้กันดี ปรากฏอยู่ในตำรายาแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในหลายคัมภีร์ เป็นสมุนไพรที่มีความถี่ในการใช้และปรากฏในตำรายาสูงมากชนิดหนึ่ง โดยใช้เถาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้กษัยแก้เหน็บชา ถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายกษัย แก้เส้นเอ็นขอด แก้เมื่อยขบ ทำให้เส้นหย่อน แก้ปวด แก้ไข้ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้โรคบิด แก้โรคหวัด แก้ไอ ขับเสมหะ ถ่ายเสมหะลงสู่คูดทวาร ถ่ายอุจาระ บีบมดลูก หมอยาบางพื้นที่ใช้แก้อาการตกขาว คาดว่ามาจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเถาวัลย์เปรียง ที่มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้นกันจึงอาจจะเป็นกลไกที่ช่วยให้อาการตกขาวดีขึ้น
ต่อมามีการศึกษาวิจัย และยืนยันการใช้แก้ปวดกล้ามเนื้อ มีความปลอดภัยสูงผ่านการศึกษาวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อตรวจสอบข้อมูลการศึกษาวิจัยก็พบว่า เถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แต่เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย จึงได้ส่งเถาวัลย์เปรียงให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ เมื่อพบว่าไม่มีพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง จึงพัฒนาเถาวัลย์เปรียงในรูปแบบแคปซูลแก้ปวดเมื่อยเพื่อใช้ในโรงพยาบาล
ต่อมามีงานวิชาการพบว่า เถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง หวัด ภูมิแพ้ และยังผ่านการทดลองทางคลินิกในการแก้ปวดจากเข่าเสื่อมเปรียบกับนาโปรเซน(ยาต้านการอักเสบแผนปัจจุบัน) แล้วพบว่าได้ผลไม่ต่างกัน และในการแก้ปวดหลังระดับเอว (low back pain) เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน คือ ยาไดโคลฟีแนค ก็พบว่าได้ผลไม่ต่างกันอีกเช่นกัน แต่เถาวัลย์เปรียงมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
ปัจจุบัน แคปซูลเถาวัลย์เปรียงได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2554
นอกจากฤทธิ์ในการแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อได้เทียบเคียงกับกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อแผนปัจจุบัน หรือ กลุ่มยา N-saids และยังไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารลำไส้แล้ว เถาวัลย์เปรียง ยังใช้เป็นยาแก้กษัยของไทย ช่วยดูแลระบบทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่น ขัด ไม่คล่อง จึงได้ถูกนำมาใช้บรรเทาอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต และยังมีฤทธิ์ลดอักเสบที่โดดเด่น สามารถช่วยลดอาการอักเสบของต่อมลูกหมากโตได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง และอาการไม่พึงประสงค์
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารเนื่องจากเถาวัลย์เปรียงมีกลไกออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) และการรับประทานเถาวัลย์เปรียงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
- อาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง และใจสั่น
ข้อมูล : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
ปรึกษาหมอคลินิกออนไลน์ : https://lin.ee/47PRVjiFz
ข้อมูลอ้างอิง
(1) Puttarak P, Sawangjit R, Chaiyakunapruk N. Efficacy and safety of Derris scandens (Roxb.) Benth. for musculoskeletal pain treatment: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. J Ethnopharmacology. 2016;194: 316-323.
(2)ศิษฎิคม เบ็ญจขันธ์,ศิวาภรณ์ พุทธิวงศ์, นุชจรินทร์ บุญทัน, มัณฑนา วิจิตร, สุนทร วาปี, สุดธิมา การสมบัติ. การศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยาแคปซูลเถาวัลย์เปรียงกับ Ibuprofen ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าอักเสบ.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2555;10(2):115-123.
(3) ยุทธพงษ์ ศรีมงค, ไพจิตร์ วราชิต, ปราณี ชวลิตธำรง, บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, รัตใจ ไพเราะ, จันธิดา อินเทพ และคณะ. การเปรียบเทียบสรรพคุณของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงกับไดโคลฟีแนคเป็นยาบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2550;5(1):17-23.
(4) J Ethnopharmacol 2001; 76: 125-9
(5) Chavalittumrong P, Chivapa S, Chuthaputti A, Rattanajarasroj
(6) หนังสือบันทึกของแผนดิน 11 สมุนไพรเพื่อไต, โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร