ต่อจากตอนที่แล้ว ซึ่งได้สรุปเรื่องใน ตอนท้ายว่า เมื่อเกษตรกรมี “ความสุขแบบชาวบ้าน” จากการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน แล้ว เรื่องคงจะยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะสิ่งที่น่าสนใจต่อไปก็คือ กระบวนการจัดการของเกษตรกรหรือชุมชน เพื่อดำรงความยั่งยืนต่อไปในอนาคต เรามาติดตามกันต่อในตอนนี้ครับ
ในการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเกษตรกรแต่ละคนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในและนอกแปลงไร่นาของตนเอง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีการถอดบทเรียน ตลอดจนสรุปเป็นองค์ความรู้ในการดำเนินงาน ทั้งในเชิงเนื้อหา เช่น บริบทชุมชนหรือนิเวศการเกษตรของชุมชน การปลูกพืชปลอดสารพิษ การปลูกพืชผสมผสานการปลูกสมุนไพร การจัดระบบข้อมูลในไร่นา การไถกลบฟางบำรุงดิน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำนํ้าหมักจุลินทรีย์ การแปรรูปผลผลิต การจัดการกับตลาด ฯลฯ ส่วนความรู้ในเชิงเทคนิค กระบวนการทำงาน เช่น การวิเคราะห์ปัญหาและทางเลือก การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การจัดกระบวนการเรียนรู้การสรุปบทเรียน การถ่ายทอดหรือการขยายผล การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาชุมชน ฯลฯ และเพื่อไม่ให้องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนเหล่านี้เลือนหายไปกับกาลเวลา จึงได้มีการจัดเก็บกระบวนการจัดการของเกษตรกร หรือชุมชนเพื่อดำ?รงความยั่งยืนต่อไปในอนาคต เป็นฐานข้อมูลทั้งในลักษณะฐานข้อมูล เอกสาร และฐานข้อมูลบุคคลและแหล่งเรียนรู้และเพื่อใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่จึงได้มีการจัดพิมพ์แผ่นพับ จุลสาร หรือเอกสารในรูปแบบอื่น ๆ ที่หลากหลาย และจัดทำเป็นวีดีทัศน์ (VCD) เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ส่วนในการถ่ายทอดหรือขยายผล เมื่อเกษตรกรรมมีอยู่แล้วในวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ในระดับครอบครัว พ่อแม่จึงใช้วิธีการถ่ายทอด/ส่งผ่านความรู้หรือภูมิปัญญาในการทำการเกษตรกรรมแบบยั่งยืนแก่ลูกหลาน เช่น พาไปสวนด้วยทำให้เห็น และสร้างกิจกรรมที่ทำร่วมกันในสวน เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในวิถีการดำเนินชีวิตจริง
นอกจากนี้ ลูกหลานหรือคนในชุมชนยังคงจะได้ซึมซับความรู้สึกนึกคิด ศรัทธา และวิธีการคิดของบรรพบุรุษ ผ่านภูมิปัญญาที่สะสมมาจากการปฏิบัติจริง และถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านานและผ่านพิธีกรรม จารีตปะเพณี ที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น ภูมิปัญญาในการตั้งถิ่นฐาน และเลือกแหล่งทำมาหากินของชาวอีสาน วิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองแบบเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินประเพณีฮีตสองคลองสิบสี่ และเรียนรู้จากแหล่งบันทึกประมวลภูมิปัญญาอีสาน เข่น หนังสือก้อม ซึ่งมีหนังสือก้อม 7 เรื่องที่รวบรวมความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการทำเกษตรไว้ ได้แก่ ธรณีสาร ฟ้าไขประตูนํ้าวันแฮกไฮ่แฮกนา วันแฮกปูกของ ตำราผีกินข้าวสาขวัญข้าว และสู่ขวัญควาย รวมทั้งเรียนรู้จากคำสอนต่าง ๆ ทีสื่บทอดมา เช่น ผญา ขะลำ ฯลฯ ส่วนในระดับชุมชน ผู้นำหรือกลุ่มใช้วิธีการและเทคนิคในการถ่ายทอดหรือขยายผลในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การจัดนิทรรศการความรู้ในโรงเรียน การจัดค่ายเยาวชนในหมู่บ้าน การจัดอบรมแก่ชาวบ้านในชุมขนหรือผู้ที่สนใจ โดยใช้วิทยากรซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชน เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ มีการฉายวีซีดีภาพกิจกรรม แจกเอกสารประกอบพร้อมอธิบายถึงปัญหา ชวนวิเคราะห์ร่วม เชื่อมโยงกับสิ่งที่ใกล้ตัว เขื่อมโยงสถานการณ์ปัญหาภายนอก เช่น นโยบายรัฐระบบทุน ฯลฯ ยกตัวอย่างประสบการณ์ของตนเองและที่อื่น แล้วพาไปดูที่สวนให้เห็นรูปธรรมจริง แล้วค่อยอธิบายเทคนิค พร้อมกับสร้างบรรยากาศให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผลผลิตให้ แจกพันธุ์กล้าไม้ให้เอาไปปลูก หรือบริการซื้อพันธุ์ไม้มาให้ และแนะนำวิธีปลูก ฯลฯ
นอกจากนี้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรหรือระหว่างชุมชนก็ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ตลอดจนมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนางานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาคเกษตรถูกนำไปผูกโยงกับสถานการณ์ต่าง ๆ จากภายนอกที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช พืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็นโอ (Genetically Modified Organisms หรือ GMO) ฯลฯ นโยบายเปิดเสรีการค้า กรณีการทำข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) ฯลฯ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้ภาคเกษตรอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามความยั่งยืนในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง การผนึกกำลังความร่วมมือกันของเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อปกป้องสิทธิในทรัพยากร อาชีพ และวีชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์เฉพาะตน แต่เป็นไปเพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และทรัพยากรของประเทศชาติเพื่อความยั่งยืนของส่วนรวมและลูกหลานในอนาคต
จะเห็นว่าการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเป็นมากกว่าการเพาะปลูก การดูแลบำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่เป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่มีการเคลื่อนไหวของกระบวนการต่าง ๆ ทั้งกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตใหม่ การปรับตัว การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน จึงมิใช่การปล่อยทุกอย่างในไร่นาให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือการปฏิเสธสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกอย่างสิ้นเชิง สาระสำคัญ่ น่าจะอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อที่จะรู้เท่าทันวิถีของการเปลี่ยนแปลงดังที่ผ่านมา แต่เพื่อที่จะปรับวิถีของตนเองและวิถีของการเกษตรให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ในสถานการณ์ของสังคมและโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ ชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม 20 ปี มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา