วันที่ 9 กันยายน 2564 นายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 เป็นประธานการเสวนาออนไลน์ภายใต้กิจกรรม “สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดปัตตานี” เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ผู้บริหารสถาบันศึกษาปอเนาะรวมถึงครูอาสาสมัครในสถาบันศึกษาปอเนาะ โดยมี นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต นายนันท์ สังข์ชุม รองศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี นายวาทิต มีสนุ่น ผอ.ศปบ.จชต. นายอุดร สิทธิพาที ผอ.กศน. ปัตตานี นายอามีน กะดะแซ ผอ.สช.ปัตตานี นางเปรมจิต หงษ์อำไพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี และนายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ และครูผู้สอนในสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมรับฟังการเสวนาผ่านช่องทางออนไลน์ในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมรูสะมิแล สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี
พร้อมกันนี้ผู้ตรวจราชการและคณะได้ทำพิธีส่งมอบน้ำดื่มจำนวน 1,728 แพ็ค, หน้ากากอนามัยจำนวน 40 กล่อง และพืชสมุนไพรตามโครงการล้านเมล็ดพันธุ์ ศธ.ห่วงใยต้านภัยโควิดเฉลิมพระเกียรติให้กับ รพ.สนามจังหวัดปัตตานี ผ่านตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี
ทางด้านนายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 7 กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)สถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดปัตตานี มีข้อกำหนดโดยการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบ On-Hand เป็นหลักเพราะจะมาอยู่ร่วมกันไม่ได้ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งประเด็นที่น่ากังวลก็คือการที่นักเรียนกลับไปบ้านแล้วกลับเข้ามาในสถาบันปอเนาะ ถ้าหากมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งกลับมาอยู่ในสถาบันการศึกษาปอเนาะจะต้องกักตัวก่อน 14 วัน ซึ่งในบางสถาบันศึกษาปอเนาะ จะเป็นนักเรียนที่อยู่ประจำ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะออกนอกพื้นที่ไม่ได้ โดยจะต้องอยู่ในสถาบันศึกษาปอเนาะทุกวันและต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่แบบ 100% โดยห้ามคนในออกคนนอกเข้าไม่เช่นนั้นการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้น ส่วนในการจัดการเรียนการสอนจะเป็นไปใน 3 รูปแบบ ดังนี้
1.ใช้ระบบ ON-HAND เป็นหลัก ซึ่งครูจะสามารถที่จะประสานกับนักเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ ผ่านทางบาบอโดยมอบนโยบายในการจัดการเรียนการสอนต่างๆให้กับนักเรียนได้อ่านและตอบ
2.ใช้ระบบ ON–DEMAND ซึ่งบางคนมีมือถือเครื่องมือสื่อสารที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับครูได้ ซึ่งจะใช้คลิปเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว
3.ใช้ระบบ ON-AIR ซึ่งในบางพื้นที่ก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้แต่ก็มีน้อย ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนใน 3 รูปแบบได้ ซึ่งในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE ไม่ได้เด็ดขาด เพราะพื้นที่จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การจัดการเรียนการสอนแบบ ON-SITE ต้องได้รับการอนุมัติจาก ศบค. จังหวัดปัตตานีเป็นหลัก ในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นปัญหาและอุปสรรคในด้านเครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ค รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว และร่วมหารือหาทางแก้ไข และในส่วนของเด็กยากจนที่ยังขาดอุปกรณ์ในการเรียนการสอนนั้นในขณะนี้ต้องยึด ศบค.เป็นหลักคือเงินอุดหนุนบางส่วน สามารถที่จะสนับสนุนจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องรอทำการตกลงกันระหว่างกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในกิจกรรม “สธ. และ ศธ. ห่วงใยคนในสถาบันปอเนาะ” สืบเนื่องจากการตรวจราชการในหลายพื้นที่ในห้วงที่ผ่านมานั้น ยังมีประเด็นที่น่ากังวลคือ การสร้างการรับรู้รวมถึงแนวทางการป้องกันมาตรการการป้องกัน Covid-19 ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ระหว่างรัฐกับประชาชนทั่วไป รวมถึงนักเรียนนักศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้มากขึ้น และควรจะต้องดำเนินการให้เร็ว ครอบคลุมให้มากที่สุด ทางสาธารณสุขในพื้นที่ และศึกษาธิการจังหวัดจึงได้ร่วมกันประชุมหารือ หาแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือสถาบันการศึกษาปอเนาะ โดยสถานศึกษานั้นๆ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด ส่วนเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น ขณะนี้ทางศึกษาธิการจังหวัดได้ดำเนินการให้บุคลากรทางการศึกษาทุกแห่งได้ฉีดวัคซีนวัคซีน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนแล้ว โดยหลังจากนี้ศึกษาธิการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจถึงมาตรการต่าง ๆ ต่อสถานศึกษาในความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และมีการปฏิบัติเรื่องการป้องกันโควิด-19 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป