ศธ. ปิติเงินพระราชทานช่วยผู้ป่วยโควิดใน รพ.สนาม-ศูนย์พักคอย

รมว.ศึกษาธิการ ติดตามการใช้เงินพระราชทาน 70 ล้านบาท พบหน่วยงานใช้เงินตรงตามวัตถุประสงค์สนับสนุนการดำเนินงานสถานศึกษาในสังกัดที่ใช้พื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย หรือ สถานที่กักตัว รวม 755 แห่ง รองรับประชาชนได้ 30,154 เตียง ดูแลประชาชนติดเชื้อโควิด-19 ได้ตรงจุด

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับ การจัดสรรเงินพระราชทาน จำนวน 70,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานเงิน จำนวน 99,900,000 บาท ให้แก่รัฐบาล เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของวัด โรงเรียน สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานของเหล่าทัพทั่วประเทศ ที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และสถานที่ฌาปนกิจศพ

เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ศธ.ได้จัดสรรเงินพระราชทานไปสนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาในสังกัด ที่อนุญาตให้ใช้อาคารและพื้นที่จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และสถานที่กักตัว จำนวน 755 แห่ง รองรับได้ทั้งหมด 30,154 เตียง จำแนกเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วงเงิน 60,774,515 บาท จัดสรรให้โรงพยาบาลสนาม 148 แห่ง จำนวน 10,140 เตียง สถานที่กักตัวหรือศูนย์พักคอย 355 แห่ง จำนวน 15,812 เตียง, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วงเงิน 5,677,865 บาท จัดสรรให้โรงพยาบาลสนาม 8 แห่ง จำนวน 1,289 เตียง สถานที่กักตัว หรือศูนย์พักคอย 16 แห่ง จำนวน 1,411 เตียง และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) วงเงิน 3,547,620 บาท จัดสรรให้สถานที่กักตัว 115 แห่ง ศูนย์พักคอย 113 แห่ง จำนวน 1,502 เตียง

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามการใช้เงินพระราชทานฯ พบว่า ทุกหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรได้นำเงินพระราชทาน ไปใช้สนับสนุนตามวัตถุประสงค์ทุกประการ เช่น กศน. ได้รับเงินพระราชทาน จำนวน 3,547,620 บาท จัดสรรให้หน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ 35 จังหวัด โดยในส่วนของสถานศึกษาที่เป็นสถานกักตัว ซึ่งร่วมดำเนินการแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ได้นำเงินพระราชทานไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร หรือ ดำเนินการของสถานที่กักตัว เช่น ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร ค่าจ้างทำความสะอาดอาคารสถานที่ ห้องน้ำ และเป็นค่าเครื่องใช้ วัสดุ อุปกรณ์ วัสดุทางการเแพทย์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เป็นต้น และในส่วนของศูนย์พักคอยได้นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับศูนย์พักคอยตามจำนวนเตียงที่ให้บริการให้แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้ป่วยขณะที่อยู่พักรักษาตัว ณ ศูนย์พักคอย อาทิ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ด้วยพระเมตตาของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกร ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี มีคุณภาพ ได้รับการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างเท่าเทียม ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง.