ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลอง งาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2564 ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้กำหนดประเด็นหลัก เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้ในการร่วมรณรงค์ และเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2564 ชูแนวคิดหลักคือ “Literacy for a Human-Centred Recovery : Narrowing the Digital Divide” หรือ “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings และถ่ายทอดสดการเฉลิมฉลองดังกล่าวให้บุคลากรในสังกัด รวมถึงนักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วประเทศ รับชมทาง Facebook Live เพจ ETV Channel โดยมี มิสเตอร์ ชิเกรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. และคณะผู้บริหารหน่วยงานและสถานศึกษา กศน.เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า ตามที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก กำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” (International Literacy Day) ตามมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลก และกว่า 50 ปี ประเทศไทยในฐานะประทศสมาชิก ได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. เป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยรู้หนังสือมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ จัดการศึกษานอกระบบให้แก่ผู้ใหญ่ ดูแลผู้ที่ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับโอกาสในการที่จะเข้าถึงการศึกษา ซึ่งในปี 2564 จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของผู้คนในทุกด้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ รวมถึงประเทศไทยด้วย
นางกนกวรรณ กล่าวต่อไปว่า ด้วยวิกฤตการณ์ โควิด-19 ได้ส่งผลให้วิถีชีวิตของประชากรโลก รวมถึงชาวไทยเปลี่ยนแปลงไปแบบเฉียบพลัน ทักษะสำหรับการเรียนรู้ที่จะอยู่รอด และอยู่ร่วมในสังคมโลกยุคนี้ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยจึงเป็นความท้าทายของนักจัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยเฉพาะด้านการศึกษา ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้หรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ที่เรียกว่า “Digital Divide” ที่เกิดช่องว่างมากขึ้นระหว่างประชาชนกลุ่มที่มีความพร้อมและกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ ในมิติของโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่วางอยู่บนพื้นฐานของการอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น หรือ “การรู้หนังสือ” และ “การพึ่งพาตนเองได้” ย่อมไม่เป็นการเพียงพออีกต่อไป รัฐบาลโดยหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องจึงได้พยายามมองหาโอกาสในวิกฤตเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้น โดยอาศัยการรู้หนังสือที่มีเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตเพื่อการอยู่รอดตามแนววิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และการเรียนรู้ที่มองไปข้างหน้าหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในการจัดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2564 ครั้งนี้
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการรณรงค์และเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2564 กับประเทศสมาชิกทั่วโลก ภายใต้ประเด็นหลักที่องค์การยูเนสโกกำหนด “Literacy for a Human-Centred Recovery : Narrowing the Digital Divide” หรือ “การรู้หนังสือเพื่อการฟื้นคืนสู่การใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง : การลดช่องว่างทางดิจิทัล” ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings เพื่อนำพาสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสานสนเทศและความรู้ และร่วมกันสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้นต่อไป นอกจากนี้ในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว สำนักงาน กศน.ยังได้จัดการปาฐกถาพิเศษ เนื่องใน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2564 โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกาด้านการศึกษา และการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “การส่งเสริมการรู้หนังสือในวิถีชีวิตใหม่ New Normal โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ร่วมเสวนาผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings ในโอกาสนี้ด้วย