ทีเซลส์ประกาศรายชื่อผู้ชนะจากโครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย และหอการค้าไทย-ฝรั่งเศล จัดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมเครื่องสำอาง ปี 2564 (CosmeNovation) รอบ Final Pitching ภายใต้โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2563-2564 หรือ Cosmetics Innovation and Business Link (CIB 2020-2021) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง BCG Economy โดย ทีเซลส์ (TCELS) ดูแลกลุ่มนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BCG สำหรับพันธกิจหลักของทีเซลส์ TCELS จะเน้นการสนับสนุน ขับเคลื่อน และบ่มเพาะงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรในประเทศให้เหมาะสมกับการเกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพระดับมาตรฐานสากล ผลักดันผลงานวิจัยให้นำไปใช้ได้จริง เชื่อมโยงและนำพาเครือข่ายร่วมกันพัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนการลงทุนให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อทำให้อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจรมีการขยายตัวส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกการทำงาน ดังนี้

1. ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และศักยภาพบุคลากร

2. เชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

3. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์

4. ร่วมมือกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าตลาดหลักทรัพย์

โดยโฟกัสกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยาชีววัตถุ เซลล์และยีนบำบัด (เว้นผลิตภัณฑ์วัคซีน) เครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ Medical AI รวมถึงการพัฒนาเมืองเวชนคร และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและเวชสำอาง โดยมีสโลแกนว่า “Make Every Life Better”

ดร.ชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม “สำหรับโครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ (Cosmetics Innovation and Business Link) หรือเรียกสั้นๆ ว่า CIB เป็นแพลตฟอร์มที่ทีเซลส์ (TCELS) ได้ริเริ่มในปี 2560 โดยร่วมมือกับ Cosmetics Valley ฝรั่งเศส โดยในช่วงแรกเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานระดับสากล และสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนและสากล โดยคัดเลือก SMEs/Start up ที่มีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมออกสู่ตลาด เข้ารับการทดสอบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน จากนั้นก็คัดเลือกรอบ Final Pitching เพื่อพาไป Road Show ที่งาน Cosmetics 360 ประเทศฝรั่งเศล”

“ซึ่งจากการทำโครงการมาในช่วง 2-3 ปีแรกพบ pain point ของผู้ประกอบการไทย คือ ตัวตำรับผลิตภัณฑ์ แข่งขันกับตลาดต่างประเทศค่อนข้างยาก และในประเทศไทยมีวัตถุดิบสมุนไพรที่น่าสนใจมากมาย จึงได้พัฒนาความร่วมมือกับ สวทช. ในปี พ.ศ. 2563-2564 รวมถึงความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย และหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งตอบโจทย์สำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพโดดเด่นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สมุนไพรให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางภาคธุรกิจในระดับภูมิภาคและสากล ซึ่งการดำเนินงานพัฒนาผู้ประกอบการในปี 2564 ส่วนใหญ่ดำเนินโดย สวทช. สำหรับทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้เชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการออก Roadshow ในงาน Cosmetics 360 เหมือนที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องปรับจากการร่วมงานแบบ on site เป็น on line และหวังว่าจะได้ไปร่วมแบบ On site จริงๆ ในปีถัดไป” ดร.ชัยรัตน์ กล่าว

“กิจกรรมการประกวดนวัตกรรมเครื่องสำอาง ปี 2564 (CosmeNovation) รอบ Final Pitching ซึ่งจะมีการแข่งขัน Pitching เพื่อคัดเลือก 3 ทีม ทีมที่ชนะการประกวดจะได้เข้าร่วม Exhibition และ Business partnering ในงาน Cosmetic-360 ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2565 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกบริษัทประสบความสำเร็จและสามารถขยายธุรกิจได้กว้างไกลมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และขอขอบคุณ สวทช. หน่วยงานพันธมิตรทุกภาคส่วน และคณะกรรมการทุกท่าน ที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินการ Pitching ในวันนี้” ดร.ชัยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

รายชื่อผู้ชนะจากโครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศปี 2563-2564 หรือ Cosmetics Innovation and Business Link (CIB 2020-2021)
ลำดับ ผู้ประกอบการ ที่ปรึกษาวิจัย (ผลงาน) สารสกัด

1 บริษัท เดวิด เอนเตอร์ไพรส์ แอนด์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี Bovine colostrum

2 บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด ดร.รัตน์จิกา วงศ์วนากุล Fenugreek extract

3 บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด ดร.มัตถกา คงขาว AEG extract

ทีเซลส์ (TCELS) ขอขอบคุณคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ให้เกียรติร่วมเป็นกรรมการตัดสิน โดยมีรายชื่อดังนี้ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์, คุณสุวิภา วรรณสาธพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, รศ.ดร.ภก. เนติ วระนุช มหาวิทยาลัยนเรศวร, ผศ.ดร.ภก. วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณลักษณ์สุภา ประภาวัต สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย
………………………………………………………………………………………