ไทยโดยวธ.จับมือกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ ครั้งที่ 56 วันที่ 8 ก.ย. นี้ ผ่านระบบออนไลน์

ไทยโดยวธ.จับมือกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ ครั้งที่ 56 วันที่ 8 ก.ย. นี้ ผ่านระบบออนไลน์ ชูใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในรูปแบบดิจิทัลฟื้นฟูสังคม-เศรษฐกิจไทยและประเทศอาเซียนหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายในการสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีอาเซียนและประชาคมโลก โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น วธ.จึงมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนา ความร่วมมือและเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรมของอาเซียนผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกิจกรรมส่วนหนึ่งคือ การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ (ASEAN Committee on Culture and Information ASEAN -COCI) ซึ่งเป็นการประชุมระดับหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรมและด้านสนเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและสถานะโครงการที่ผ่านมา รวมทั้งรับทราบนโยบายของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านวัฒนธรรมและด้านสนเทศ โดยจะหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN–COCI ครั้งที่ 56 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (โปรแกรม Zoom) ในวันที่ 8 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การประชุม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การประชุม ASEAN–COCI ครั้งที่ 56 มีหัวข้อหลักในการประชุมคือ “หลากหลาย สร้างสรรค์ : มุ่งมั่นสู่อนาคตที่ยั่งยืนของอาเซียน (Diversity & Creativity : Toward a Sustainable Future for ASEAN”เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก่อให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิต รวมถึงภาควัฒนธรรมและสารสนเทศ จึงต้องปรับแผนดำเนินงานเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่สุดต่อหน่วยงานภาควัฒนธรรมและสนเทศ คือ ความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 74  ที่ผ่านมาได้ประกาศให้ปี 2564 เป็น “ปีสากลแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”(International Year of Creative Economy for Sustainable Development) ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ขึ้นมามีบทบาทหน้าที่ในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งวางรากฐานของประเทศไทยผ่านโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและชุมชนของประเทศหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนมีจุดเด่นที่มีความหลากหลายในแง่มุมต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ซับซ้อน ความหลากหลายทางนิเวศวิทยา หรือประเพณี ความเชื่อและวิถีชีวิต ตลอดจนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อผนวกสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากับความคิดสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อโลกในยุคปัจจุบัน จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน