กรมอุทยานแห่งชาติฯ เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อใส่ห่วงขาและเก็บตัวอย่างเชื้อในนกนางแอ่นบ้าน บริเวณถนนสีลม

นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. นี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะมีการจับนกนางแอ่นบ้านใส่ห่วงขาและเก็บตัวอย่างเชื้อไข้หวัดนก โดยวิธีการเก็บตัวอย่าง Swab จากช่องทวารหนัก บริเวณถนนสีลม อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และเป็นการศึกษาประชากรรวมถึงเส้นทางอพยพของนกนางแอ่นบ้าน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน)และคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงองค์กรNGOs ต่าง ๆ

ทั้งนี้นกนางแอ่นบ้าน Hirundorustica(Linnaeus, 1758)เป็นนกอพยพหนีความหนาวเย็นจากประเทศรัสเซียและจีน ลงมาทางใต้ในประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชาและมาเลเซีย พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ช่วงฤดูหนาว ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการใส่ห่วงขานกนางแอ่นบ้านบริเวณถนนสีลมตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๔ – ปัจจุบันมีการใส่ห่วงขานกนางแอ่นบ้านที่ถนนสีลม ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น ๑๘,๖๙๗ ตัว สามารถจับนกที่ใส่ห่วงขากลับคืนได้ ๒๘๘ ตัว ทำให้ทราบว่านกนางแอ่นบ้านมีอายุยืนมากกว่า ๘ ปี และยังเคยพบนกนางแอ่นบ้านที่ติดห่วงขาจากจ.น่าน ถูกจับได้ที่บริเวณถนนสีลมอีกด้วย อีกทั้งยังพบว่ามีนกนางแอ่นบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณถนนสีลมในช่วงฤดูหนาวเป็นนกที่อพยพมาจากทะเลสาบ TOREYSKIE ประเทศรัสเซีย

นายเฉลิมชัย ปาปะทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามแผนเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกอพยพทั่วประเทศ โดยปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ช่วงเดือนตุลาคม มีการใส่ห่วงขานกชายเลนที่จังหวัดสมุทรสาคร ๘๖๕ ตัว เก็บตัวอย่างเชื้อ ๒๘ ตัวอย่าง ช่วงเดือนพฤศจิกายนมีการใส่ห่วงขานกชายเลนที่หมู่เกาะลิบง อ.กันตัง      จ.ตรัง จำนวน ๘๒๔ ตัว เก็บตัวอย่างเชื้อ ๔๐ ตัวอย่าง และช่วงเดือนธันวาคมมีการใส่ห่วงขานกนางแอ่นบ้านที่ อ.ปัว จ.น่าน ๑,๖๕๔ ตัวและเก็บตัวอย่างเชื้อ ๕๐ ตัวอย่าง ทั้งนี้นกนางแอ่นบ้านที่ถนนสีลมเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องทำการเฝ้าระวัง เนื่องจากมีการอาศัยใกล้ชิดแหล่งชุมชนที่มีผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสที่จะสัมผัสกับมูลและสารคัดหลั่งค่อนข้างสูง ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจนกนางแอ่นบ้าน บริเวณถนนสีลม เขตบางรัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการเก็บตัวอย่างไปแล้ว ๓๖๘ ตัวอย่าง ผลปรากฏว่า ไม่พบนกนางแอ่นบ้านติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด

นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังมีการสำรวจและเก็บตัวอย่างเชื้อไข้หวัดนกจากนกในธรรมชาติในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอื่น เช่น ในพื้นที่ที่มีประชากรนกอาศัยรวมกลุ่มอย่างหนาแน่น บริเวณที่มีการทำรังวางไข่ของนกที่อยู่ใกล้ชิดกับแหล่งชุมชน ในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต นกที่อาศัยหรือหากินในบริเวณตลาดค้าชายแดน พื้นที่หากินของนกอพยพที่สำคัญ ตลอดจนนกในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในการเก็บตัวอย่างจำนวน ๒,๕๐๐ ตัวอย่าง ในพื้นที่ทั่วประเทศทุกปี ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย เช่นกัน

ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวเสริมว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติ โดยมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้อำนวยการฯ ทั้งหน่วยปฏิบัติการ

เคลื่อนที่ป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติ จำนวน ๒๑ หน่วย และหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ด้านวิชาการ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติจำนวน ๙ หน่วย ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ทั่วประเทศ และโรคระบาดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสัตว์ธรรมชาติทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และนอกพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถเฝ้าระวังโรคในสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     

                                                                                                       กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช