นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Facilitation Joint Consultative Committee: ATF-JCC) เมื่อวันที่ 12-13 มกราคม 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยได้ข้อสรุปในเรื่องแผนงานอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในปี 2562 จะเน้น 3 เรื่องหลักคือ 1) การตรวจสอบและกำกับดูแลให้การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) ของสมาชิกอาเซียนเป็นไปตามหลักการที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบแล้วเมื่อปี 2561 อาทิ ก่อนใช้มาตรการต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความเห็น มาตรการที่ใช้จะต้องโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีการทบทวนการใช้มาตรการ และลดเลิกมาตรการเมื่อไม่มีความจำเป็นหรือส่งผลเป็นอุปสรรคด้านการค้า 2) กำกับและประเมินผลการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) และ (3) ให้ประเทศสมาชิกนำผลการศึกษาระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร มาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศสมาชิก
นางอรมนกล่าวเสริมว่า ที่ประชุมอาเซียนยังได้หารือร่วมกับตัวแทนจากภาคธุรกิจของอาเซียนเรื่องการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีของภาครัฐและการออกกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจในอาเซียน ที่ประชุมยังได้หารือถึงผลการศึกษาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนที่สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก หรือ ERIA ดำเนินการในเรื่องการคำนวณต้นทุนธุรกรรมทางการค้าของสมาชิกที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนธุรกรรมทางการค้า (Trade Transaction Cost) ของอาเซียนให้ได้ร้อยละ 10 ในปี 2563 และเพิ่มมูลค่าการค้าในภูมิภาคอาเซียนขึ้น 2 เท่า ในปี 2568 โดยผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าของการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3 อันดับแรกของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีระดับคะแนนสูงในด้านความโปร่งใสและการเผยแพร่ข้อมูลกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ ต่อสาธารณะ รวมทั้งเป็นหนึ่งในประเทศที่จัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการออกกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้า ทั้งนี้ คาดว่าผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ของ ERIA จะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2562
นางอรมนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงเอกสารรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ASEAN Single Window ซึ่งปัจจุบันเชื่อมโยงกันได้แล้ว 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังเหลืออีก 5 ประเทศที่จะต้องเชื่อมโยงให้เสร็จในปี 2562 โดยระบบดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การตรวจปล่อยสินค้าและลดต้นทุนแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงการเชื่อมโยงระบบคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน (ASEAN National Trade Repository: ATR) และการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self-Certification: ASWC) ให้เป็นระบบเดียวกันให้เสร็จสิ้นภายในปี 2562 เป็นต้น
—————————–
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์