แม้ว่าโควิด 19 จะเข้ามาสร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน แต่ในทางกลับกันก็เป็นความท้าทาย กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อเป็นทางเลือกสู่ทางรอดด้วยเช่นกัน สะท้อนจาก “เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง” เจ้าของแบรนด์ พอ D คำ by แม่หนิงภูดอย ขนมของฝากจากชุมชน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง หนึ่งในชุมชนที่อบรมในโครงการ “พลังชุมชน” เสริมความรู้คู่คุณธรรม สนับสนุนโดยเอสซีจี โดยมีลูกชายเป็นแรงบันดาลใจ เปลี่ยนขนมคุกกี้ไส้สับปะรดธรรมดาๆ กลายเป็น “กุ๊กไก่ไส้สับปะรด” ของฝากที่ต้องซื้อติดมือเมื่อมาเยือนลำปาง
จากความชอบกินขนมของลูกชาย ทำให้ “แม่หนิง” เกิดความคิดอยากทำขนมอร่อย ๆ มีคุณภาพอัดแน่นด้วยความรักความใส่ใจ จึงเริ่มศึกษาและทดลองทำขนมง่าย ๆ อย่างขนมปังกรอบ เค้กกล้วยหอม คุกกี้ไส้สับปะรด ปั้นเป็นตัวหนอนรังไหม เพื่อกินกันในครอบครัว ก่อนแจกจ่ายให้คนรู้จักลองชิม และทำขายในที่สุด แต่ด้วยความคิดว่าต้องศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม่หนิงจึงตัดสินใจเข้าอบรมในโครงการ “พลังชุมชน” เสริมความรู้คู่คุณธรรม นับเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้นำความรู้จากการอบรมมาคิดวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน ของขนมคุกกี้ไส้สับปะรดอย่างจริงจัง
“ในการเดินทางมาของโอกาส เราไม่มีทางรู้ว่าโอกาสนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ และเมื่อมาแล้วจะมีมาอีกมั้ย บางทีมันอาจจะเป็นโอกาสเดียวของเราก็ได้ ฉะนั้น เราต้องสร้างและพัฒนาตัวเราเองให้พร้อม เพราะเมื่อโอกาสมาถึงเราจะไม่พลาดที่จะคว้ามันไว้และต้องทำให้ดีที่สุด”
แม่หนิงจึงทุ่มเทกับการวิเคราะห์หาเอกลักษณ์ของขนม ใช้เวลาคิดทดลองและพัฒนาอยู่หลายครั้ง โดยเลือกใช้สัญลักษณ์ของจังหวัดอย่าง “ไก่ขาว” รวมทั้งสับปะรดที่เป็นพืชเศรษฐกิจของลำปาง ใส่ไอเดียเก๋ให้ขนมบ้าน ๆ ปรับเป็น “กุ๊กไก่ไส้สับปะรด” รูปร่างหน้าตาน่ารักในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม จุดประกายให้แม่หนิง ภูดอยก้าวไกลไปอีกขั้น เติมความฝันขยายสู่ธุรกิจที่เต็มไปด้วยความรักของแม่ พร้อมมองถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น คือ ต้องการให้ขนมกุ๊กไก่ไส้สับปะรดเป็นของฝากประจำจังหวัดลำปาง
ดังนั้น เรื่องของมาตรฐานจึงสำคัญมาก โดยสิ่งที่แม่หนิงยึดมั่นคือ “แม่จะสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกเสมอ แม่ทำให้ลูกกินแบบไหน แม่ทำขายแบบนั้น” ซึ่งขนมทุกชิ้นที่ทุกคนกินต้องได้มาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) วัตถุดิบทุกอย่างต้องมีคุณภาพ และได้รับความอร่อยเหมือนที่ลูกของแม่ได้รับ ลูกค้าจึงมั่นใจได้ ไม่ว่าจะซื้อฝากหรือซื้อกินเอง
เดิมขนมของฝากของแม่หนิงจะเน้นขายผ่านการนำไปฝากตามร้านกาแฟ ร้านขายของฝาก หรือร้านก๋วยเตี๋ยวใน อ.แจ้ห่ม ประมาณต้นปีก่อนโควิด 19 มีรายได้ปกติเฉลี่ยประมาณ 8,000 -10,000 บาทต่อเดือน ทุกอย่างดูเหมือนกำลังไปได้ดี จนกระทั่งโควิด 19 ระบาดหนัก ๆ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน เป็นต้นมา ยอดขายจากการฝากตามร้านกาแฟลดลงเยอะมาก เหลือเพียงแค่ประมาณ 4,000-6,000 บาทต่อเดือน ทำให้ธุรกิจแทบจะหยุดชะงัก เพราะหลายร้านที่รับฝากขนมปิด ไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งกินกาแฟในร้าน การขายเปลี่ยนเป็นสั่งทางโทรศัพท์ให้ไปส่ง หรือแวะรับที่ร้านแทนการนั่งรอ ทำให้ลูกค้าไม่เห็นหรือเข้าถึงขนมที่ฝากวางขายไว้ที่ร้าน ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าจะหาสินค้าตัวใหม่ หรือวิธีการอย่างไรเพื่อเพิ่มยอดขายให้กลับคืนมา
เคล็ดลับการปรับตัวของแม่หนิงคือ นอกจากฝากขายตามร้านแล้ว ยังปรับวิธีการขายออนไลน์ โดยผ่านช่องทาง Line, inbox Tag และโทรหาลูกค้าตรง โฟกัสไปที่ฐานลูกค้าเดิม เพื่อเสนอขายขนมที่ปรับใหม่ เช่น ขนมเค้กกล้วยหอม และขนมปั้นเปี๊ยะหัวเหม่งไส้ถั่วไข่เค็ม เพิ่มชนิดของขนมจากเดิมที่เน้นคุกกี้ไส้สับปะรดเป็นหลัก ทำสดใหม่วันต่อวัน ตามจำนวนออเดอร์ในแต่ละรอบ โดยจะเปิดรอบการขายขนมเปี๊ยะ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มีรายได้เฉลี่ยราว 500-700 บาทต่อรอบการเปิดขาย แล้วบริการส่งให้ลูกค้าถึงที่ ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,000-1,400 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน กลับมาฟื้นคืนเทียบเท่าเดิมได้
“หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ต้องลงมือทำทันที ไม่ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคหนักแค่ไหน เราจะหาวิธีและผ่านไปให้ได้ ซึ่งแม่หนิงต้องไปให้ถึงเป้าหมายในการเป็นสินค้าประจำจังหวัดลำปาง แม้เจอพิษโควิดก็ต้องสู้ จะปล่อยให้ขนมกุ๊กไก่ไส้สับปะรดที่ตั้งใจพัฒนามาอย่างดีเงียบหายไปไม่ได้ จึงปรับตัวตามสถานการณ์ มองหาช่องทางการขายและการสื่อสารใหม่ ๆ รวมถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ทำ snack box ส่งตามงานสัมมนา ประชุม อบรม ของหน่วยงานราชการ รวมไปถึงสร้างเฟสบุ๊คเพจของแบรนด์ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มออนไลน์ และบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจของขนม ‘กุ๊กไก่ไส้สับปะรด’ ที่เห็นได้ในทุกที่ทุกเวลา”