อาสาแท็กซี่ รับ-ส่งผู้ป่วย สู้ภัย COVID-19

ถ้าพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวติดโควิด-19 เป็นคุณจะทำอย่างไร หลายคนต้องรอรถพยาบาลเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดความล่าช้าในการรับส่งตัวผู้ป่วย รวมไปถึงกรณีผู้ป่วยไม่มีรถส่วนตัว ขับรถไม่เป็น และไม่รู้เส้นทางที่จะไปโรงพยาบาล โครงการ “อาสา TAXI ปทุมฯ ห่วงใยช่วยภัยโควิด” คือบริการรถแท็กซี่รับ-ส่งผู้ป่วยโควิดจากบ้านสู่โรงพยาบาล โดยจะมีคนขับรถแท็กซี่จิตอาสา ที่ผ่านการอบรมมาตรการความปลอยภัยจากโควิด-19 ช่วยบริการรับ-ส่ง โดยคิดค่าโดยสารตามมิเตอร์ แต่หากผู้ป่วยไม่มีเงินทางโรงพยาบาลก็จะช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป

“มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากประสบปัญหาไม่มีรถรับ-ส่ง หลังจากได้รับแจ้งผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด ไม่รู้ว่าจะออกจากบ้านเพื่อไปโรงพยาบาลอย่างไร” เป็นข้อมูลจาก ดร.ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ดร.ขนิษฐา เล่าถึงที่มาของการทำโครงการนี้ว่า “โครงการ อาสา TAXI ปทุมฯ ห่วงใยช่วยภัยโควิด” เป็นโครงการที่ได้ต่อยอดมาจากโครงการกำลังใจสู้ภัยโควิด@ปทุมธานี โดยพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากประสบปัญหาไม่มีรถส่วนตัว เพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล ทางจังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม จึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น

โดยโครงการอาสา TAXI ปทุมฯ ห่วงใยช่วยภัยโควิด” ปัจจุบันมี 6 คัน คอยวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยจากบ้านมาโรงพยาบาล โดยคนขับแท็กซี่ทุกคนจะใส่ชุด PPE และมีการกั้นฉากในรถ นอกจากนี้จะต้องเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ บอกว่า  โครงการนี้นอกจากจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้ว ยังช่วยเหลือคนขับรถแท็กซี่จิตอาสาได้อีก โดยค่าบริการจะคิดตามราคามิเตอร์ เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพให้กับกลุ่มคนขับแท็กซี่อาสา ทั้งนี้ ทางโครงการยินดีที่จะเปิดรับอาสาสมัครแท็กซี่เพิ่ม หรือทางสหกรณ์แท็กซี่ที่กำลังประสบปัญหาขาดรายได้ ก็สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้ เพราะโครงการนี้นอกจากจะมีรายได้แล้ว ยังจะได้พบกับความอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือผู้คนในยามวิกฤติอีกด้วย

ด้านนายพจนารถ แย้มยิ้ม จิตอาสา TAXI ปทุมฯ ห่วงใยช่วยภัยโควิด เล่าว่า ตนเองทำอาชีพขับรถแท็กซี่อยู่ก่อนแล้ว แต่ติดโควิดรอบแรก จึงได้มารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจนหายดี ต่อมาถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ ตอนแรกมีความรู้สึกเฉยๆ แต่ก็คิดว่าน่าจะทำอะไร เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากโควิดได้บ้าง ยิ่งพอมาเห็นภาระงานที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ก็รู้เลยว่าเราช่วยงานเขาได้ สำหรับหน้าที่หลักๆ คือจะขับรถส่งคนไข้โควิดที่จะกลับบ้านทุกคน

สำหรับรถแท็กซี่ที่นำมาใช้รับส่งผู้ป่วยนั้นจะเป็นรถแท็กซี่ส่วนตัว นำไปปรับปรุงเพิ่มอุปกรณ์เพื่อป้องกัน ส่วนผู้ขับทุกคนจะรู้แนวทางการป้องกันโรคโควิด โดยทางโครงการจะมีเจ้าหน้าที่คอยอบรมให้ความรู้ เช่น การใส่ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) การเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้งาน เป็นต้น จึงทำให้ทั้งคนขับและผู้ป่วยมีความมั่นใจ

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในการเข้ามาเป็นอาสาสมัครแท็กซี่ คือความภาคภูมิใจที่ได้เรียนรู้ ได้ให้กำลังใจผู้ป่วยที่หายแล้ว ให้เขารู้สึกดีขึ้น ได้บอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น แต่ก่อนไปส่งผู้โดยสารคิดจะเก็บเงินเขาอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้เราไปด้วยใจเลย ยิ่งถ้าได้คุยกับผู้โดยสารรู้ว่าใครไม่มีเงิน ผมปิดมิเตอร์กลางถนนเลย ไปส่งให้ฟรีไม่คิดเงิน

สำหรับจำนวนการรับส่งผู้ป่วยไม่ใช่แค่หลักร้อย แต่เรียกว่านับไม่ถ้วนดีกว่า ช่วยลดภาระของรถพยาบาลไปได้มาก ส่วนเครือข่ายแท็กซี่ที่มาวิ่งรับส่ง แต่ละคนจะเคยมีประสบการณ์รับส่งผู้ป่วยโควิดมาก่อนแล้ว เช่น เคยไปส่งตามศูนย์ควบคุมโรค (State Quarantine) จึงมีความรู้ในการเกี่ยวข้องกับโควิด-19 อยู่พอสมควร” แท็กซี่จิตอาสา กล่าว

ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ หลายคนอาจมีความจำเป็น ที่จะต้องเดินทางออกไปทำธุระนอกบ้าน อย่างไรก็ตามต้องคิดอยู่เสมอว่า ในทุกการเดินทางย่อมมีความเสี่ยงที่จะติดโควิดได้ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส, การพูดคุย หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่นเดียวกับการนั่งโดยสารรถแท็กซี่ หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ก็สามารถใช้บริการได้อย่างปลอดภัย

มาตรการความปลอดภัย สำหรับคนขับแท็กซี่

  1. สวมหน้ากากอนามัย
  2. 1 คันไม่ควรนั่งเกิน 3 คน (ไม่รวมคนขับ)
  3. มีเจลแอลกอฮอล์บริการลูกค้าบนรถ
  4. ทำฉากกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร
  5. งดการสนทนาที่ไม่จำเป็น
  6. เปิดเครื่องปรับอากาศและแง้มหน้าต่างเล็กน้อย
  7. ให้ผู้โดยสารจ่ายเงินโดยใช้ Internet Banking หากต้องรับเงินสด ควรมีตระกร้าสำหรับทอนเงิน
  8. หลังส่งผู้โดยสารให้ทำความสะอาดประตูด้วยแอลกอฮอล์

สำหรับผู้โดยสาร

  1. สวมใส่หน้ากากอนามัย
  2. พกเจลแอลกอฮอล์ หรือถุงมือเพื่อป้องกันการสัมผัส
  3. ลดการสัมผัสส่วนต่างๆ ของรถ
  4. จ่ายเงินโดยใช้ Internet Banking
  5. ล้างมือหลังลงจากรถ และเช็ดแอลกอฮอล์บริเวณจุดที่สัมผัส

นับว่าโครงการ อาสา TAXI ปทุมฯ ห่วงใยช่วยภัยโควิด เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมมือกันและเป็นรูปธรรม สามารถช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยโควิด ที่ตกค้างอยู่ตามที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้ป่วยได้แล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างงานให้กับกลุ่มคนขับแท็กซี่ ให้กลับมามีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอีกด้วย

ทั้งนี้ หากท่านใดต้องการใช้บริการ ‘อาสา TAXI ปทุมฯ ห่วงใยช่วยภัยโควิด’ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 061-868-5246 แจ้งล่วงหน้า 1 วัน รับ-ส่งในพื้นที่ กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดภาพอินโฟกราฟิก ได้ที่ http://ssss.network/20hmo