เปิดตำราออนไลน์ เลี้ยงลูกสไตล์ Net PAMA

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้หลายครอบครัวมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลาที่อยู่ด้วยกันมากขึ้นนั้นพ่วงมาด้วยปัญหาหลากหลายและการต้องปรับตัวกับรูปแบบการใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และตารางกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เพื่อดูแลเด็ก ๆ  ทั้งในด้านชีวิตประจำวัน และการศึกษา ที่จะต้องช่วยกันทำบ้านให้เป็นทั้งบ้าน และโรงเรียน ด้วยข้อจำกัดที่ทำให้รูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงไป การเรียนออนไลน์ จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญของแทบทุกบ้านที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของงานเสวนาออนไลน์ Net PAMA Live Opening  ที่จะช่วยตอบทุกปัญหา และช่วยให้การการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ผู้ปกครองในยุคโควิด-19 ง่ายขึ้น

Net PAMA เป็นหลักสูตรออนไลน์ที่สร้างขึ้นมา เพื่อช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครองเรียนรู้เทคนิคในการปรับพฤติกรรมเด็ก โดยใช้เทคนิคเชิงบวก เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของทีมจิตแพทย์เด็ก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทีมจิตแพทย์เด็ก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกหลากแห่ง โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งจุดเริ่มต้น คือ การมองเห็นปัญหาและความต้องการของผู้ปกครองที่พบปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูก แต่ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการปรึกษา หรือพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กได้สะดวก เน็ตป๊าม๊าจึงเป็นเสมือนตัวช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครองให้สามารถเรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงลูกในเชิงบวก และเข้าถึงความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กได้สะดวกมากขึ้น เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยแบ่งหลักสูตรการเรียนเป็น 2 รูปแบบ คือ หลักสูตรคอร์สเร่งรัด และหลักสูตรคอร์สจัดเต็ม โดยหลักสูตรคอร์สเร่งรัดนั้น จะเหมาะสำหรับผู้ปกครองที่ไม่ค่อยมีเวลา และมีพื้นฐานในด้านจิตวิทยาการเลี้ยงลูกอยู่บ้างแล้ว เจาะประเด็นปัญหาเฉพาะจุด และแก้ปัญหาเฉพาะประเด็นที่ผู้ปกครองต้องการอย่างตรงจุด

ส่วนคอร์สจัดเต็ม จะสอนวิธีการปรับพฤติกรรมเด็กเต็มรูปแบบ ครอบคลุมในทุก ๆ ด้านที่จำเป็นในการเลี้ยงลูก ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน วิธีการสื่อสาร เทคนิคการชม การให้รางวัล การทำตารางกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น โดยเรียนรู้จากคลิปวิดีโอ และมีเกมหรือกิจกรรมง่ายๆ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ทดลองทำ เมื่อเรียนรู้จนจบหลักสูตร จะได้รับประกาศนียบัตร นอกจากนี้ ระหว่างเรียนพ่อแม่ผู้ปกครอง ยังสามารถสะสมแต้ม เพื่อนำไปใช้เข้าเว็บบอร์อด เพื่อพูดคุย ปรึกษาปัญหากับนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เด็กทางออนไลน์ได้อีกด้วย

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองเป็นสำคัญ ซึ่งการปรับมุมมองนั้นจะช่วยให้ทุกฝ่ายเริ่มต้นปรับตัวได้ง่ายขึ้น โดยใช้ 2 วิธี คือ การยอมรับ และความเข้าใจ-ความเห็นอกเห็นใจ

  1. การยอมรับ – พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู รวมทั้งตัวเด็ก ๆ เองจะต้องยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนไป จึงจะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น
  2. ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ – การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไข ความจำเป็น ทุกฝ่ายจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจกันให้มาก เพราะไม่มีใครเคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ครู หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ทุกฝ่ายต่างต้องปรับตัว และได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ดังนั้น ควรมีความเข้าใจซึ่งกันและกันก่อนในเบื้องต้น ก่อนจะมองเรื่องผลลัพธ์ หรือหลักสูตรการเรียนการสอนต่อไป

ในส่วนของการเรียนออนไลน์ให้มีความสุขมากขึ้นนั้น ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือ “ครูหม่อม” ผู้เชี่ยวชาญด้าน EF และการเลี้ยงลูกเชิงบวก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ ทุกข์กาย กับทุกข์ใจ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำใจยอมรับ และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถใช้หลัก 3 เตรียม เข้ามาช่วยให้การเรียนออนไลน์ของลูกมีความสุขมากขึ้นได้ คือ เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมเวลา

  1. เตรียมเวลา – ไม่ว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองจะมีลูกเล็กหรือลูกโต การมีส่วนร่วมกันในครอบครัวถือเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น การเตรียมเวลาด้วยการจัดเวลาร่วมกัน เช่น พรุ่งนี้ลูกมีเรียนออนไลน์เวลาไหนเรียน ก่อนจะเริ่มเรียนทำอะไร เสร็จแล้วจะทำอะไร พ่อแม่จะอยู่ตรงไหนเวลาที่ลูกเรียนออนไลน์ เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้รู้ว่าช่วงเวลานี้ต้องทำอะไร และช่วงเวลานี้พ่อแม่อยู่ที่ไหน ซึ่งการที่ลูกรู้ว่าจะสามารถไปหาพ่อแม่ได้ที่ไหนในขณะเรียนออนไลน์เป็นการสร้างเสริมความมั่นคงทางจิตใจให้กับลูก ถ้าหากเป็นไปได้พ่อแม่ที่มีลูกเล็กควรอยู่กับลูกระหว่างที่ลูกเรียนออนไลน์ด้วยไม่เพียงเพื่อความมั่นคงทางจิตใจแต่เพื่อความปลอดภัยของลูกอีกด้วย
  2. เตรียมตัว – การให้เด็กกินให้อิ่ม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์มากที่สุด
  3. เตรียมใจ – การให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดตารางเวลานอกจากจะเพิ่มความมั่นคงทางจิตใจให้กับลูกแล้ว ยังช่วยให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนมากขึ้นอีกด้วย

พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างสมาธิให้กับลูกนั้น การจัดสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิได้พอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถที่จะสามารถที่จะทำให้เด็กมีสมาธิได้เทียบเท่ากับการเรียนท่ามกลางสภาพแวดล้อมในห้องเรียน หรือสังคมที่โรงเรียนได้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่มีเสียงรบกวน พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำการตกลงกับลูก พยายามกำจัดปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเป็นการรบกวนสมาธิในการเรียนออนไลน์ของลูกออกไปให้ได้มากที่สุด

การเรียนออนไลน์” หากเรามองให้เป็นปัญหา มันก็จะกลายเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก แต่หากเรามองว่าเป็นโอกาส มันก็จะกลายเป็นช่วงเวลาคุณภาพในการใช้เวลาร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว เป็นโอกาสในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสของพ่อแม่ในการได้ดูแล อบรมสั่งสอน และเห็นพัฒนาการการเติบโตของลูกอย่างใกล้ชิด แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ อาจจะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหลาย ๆ ครอบครัว ไม่สามารถใช้เวลากับลูกได้อย่างเต็มที่ ในหนึ่งวัน ขอเพียงพ่อแม่ ผู้ปกครองลองจัดสรรเวลามาใช้กับลูกบ้าง แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความรัก ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นของสมาชิกในครอบครัวแล้ว เพราะเชื่อว่า สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นของขวัญ หรือรางวัลชีวิตที่ดีไปกว่าการเห็นลูก ๆ ได้เติบโตอย่างมีความสุข”

สสส. ส่งเสริมระบบการเรียนรู้ออนไลน์ สร้างตัวช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครองยุคใหม่ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่าย ทุกที่ ทุกเวลา Net PAMA ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุตรหลาน รู้วิธีสื่อสารอย่างสร้างสรรค์กับลูก และใช้เทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับสถาบันครอบครัว หนุนให้เด็ก ๆ ได้เติบโตอย่างสร้างสรรค์ ใช้ศักยภาพการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และมีอิสระ

หากพ่อแม่ ผู้ปกครองท่านใดสนใจหลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคในการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.netpama.com/ หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า https://www.facebook.com/netpama.101