วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเวทีออนไลน์สันติสานเสวนาวิชาการผ่านมุมมองผู้หญิง Gender Lens by Peace Lady ในหัวข้อ บทบาทสถาบันศาสนากับการร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ผ่านโปรแกรม Zoom ร่วมกับ วิทยาสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ, วิทยาเขตเชียงใหม่, วิทยาเขตขอนแก่น, วิทยาเขตนครศรีธรรมราช, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, และสโมสรซอนต้ากรุงเทพ ๖ ได้รับการสนับสนุนโดยงานวิจัยครอบครัวไทยไร้ความรุนแรงด้วยพี่เลี้ยงชุมชน จาก วช.และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
โดย ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ ประธานคณะทำงานแผนงานวิจัยครอบครัวไทยไร้ความรุนแรงโดยพี่เลี้ยงชุมชนและอาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร. เปิดเผยว่า “การเปิดเวทีสันติสานเสวนาวิชาการผ่านมุมมองผู้หญิง Gender Lens by Peace Lady ผู้หญิงอยากพูด ผู้ชายอยากแชร์ และหาทางออกแห่งสันติภาพร่วมกัน มีผู้สนใจเข้าร่วมงานประมาณหนึ่งพันกว่ารูป/คน ประกอบด้วยเครือข่าย มจร.ภูมิภาคจากทั่วประเทศ บุคลากรจาก ๑๑ กลุ่มงาน ๑๔ สถานศึกษา และประชาชนทั่วไทย ทำให้เห็นชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมยังพบเจอปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งในครอบครัวในหลายมิติและสนใจการหาทางออกด้วยสันติวิธี ซึ่งรากฐานของครอบครัวคือรากฐานของสันติภาพในสังคม เมื่อครอบครัวเกิดสันติสุข สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุขตามมา การจัดงานเวทีแลกเปลี่ยนความคิดนี้เป็นการจัดครั้งที่ ๑ ในหัวข้อที่กำลังได้รับความนิยมว่าบทบาทของสถาบันศาสนาจะเข้ามาร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างไร
ซึ่งงานนี้ได้รับความเมตตาจากพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ “รากฐานของครอบครัวคือรากฐานสันติภาพในสังคม” มีประเด็นสำคัญว่า ครอบครัวสันติภาพถือว่ามีความสำคัญของสังคมในปัจจุบันซึ่งสอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยหลักสูตรสันติศึกษาพยายามจะทำให้สันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ หมายถึงการสร้างสันติภาพเป็นรูปธรรม โดยครอบครัวสันติสุขต้องมีบ้าน วัด โรงเรียน จับมือกันเพื่อเสริมสร้างครอบครัวสันติสุข โดยมุ่งพัฒนา ๔ ภาพ คือ กายภาพ พฤติภาพ จิตตภาพ ปัญญาภาพ โดยใช้หลักของฆราวาสธรรม ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน ประกอบด้วย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เพราะความจริงหรือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นไปของทุกอย่าง แต่ต้องปฏิบัติตามแนวศีล ๕ เป็นพื้นฐาน ซึ่งชีวิตครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วยกันเพราะเหตุผลอย่างเดียวแต่มีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการเท่าเทียมกันทางเพศด้วย ภายในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญได้มาให้ทัศนะในประเด็นนี้ร่วมกัน ได้แก่ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า หัวข้อ “บทบาทสถาบันศาสนากับการร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ท่านได้กล่าวประเด็นสำคัญสรุปได้ว่าความรุนแรงไม่ได้เจ็บในกายแต่เจ็บทางด้านจิตใจ โดยเกิดขึ้นจากคู่สมรส ส่งต่อไปยังเด็ก ตัวอย่างเช่นข่าวในหนังสือพิมพ์ ๓๕๐ เกิดจากความรุนแรงที่สามีกระทำความรุนแรงต่อภรรยา ด้วยสาเหตุความหึงหวง เศรษฐกิจ เป็นต้น ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นจำนวนมาก มาจากความระแวงหึงหวง
ซึ่งสามีเป็นผู้กระทำเพราะความหึงหวง แต่สุดท้ายภรรยาเป็นผู้กระทำเพราะทนไม่ได้ จึงแสดงความรุนแรงตอบโต้ โดยความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องส่วนรวม ดังนั้นศาสนาต้องปรับวิธีการสอนที่สอดรับกับวัฒนธรรม ต้องมีการสร้างระบบดูแลกันในชุมชนโดยศาสนาเข้ามามีบทบาท ผู้นำศาสนาถือว่าเป็นบุคคลต้นแบบมีความรู้ความเข้าใจสามารถช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะความขัดแย้งในครอบครัวสามารถฟื้นฟูจิตใจให้ผ่านพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง แต่สิ่งที่ตระหนักมากคือ การใช้อำนาจเหนือนำไปสู่ความรุนแรงทุกมิติ รวมถึงการเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำ การเหมารวมทางเพศ
ซึ่งจากการวิจัยความรุนแรงมุ่งให้อดทน แต่จะทนนานขนาดไหน ซึ่งปัญหาความรุนแรงต้องใช้หลายเครื่องมือในการแก้ปัญหา ศาสนาต้องร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ผู้นำศาสนาต้องมีเทคนิคในการสื่อสารเพื่อให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจ ศาสนาต้องเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้าเกิดความรุนแรงต้องมีการเยียวยาทางด้านจิตใจ สถาบันศาสนาต้องมีส่วนร่วมและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนสำคัญ เราต้องดึงศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงทุกมิติ สิ่งสำคัญพระสงฆ์ต้องเข้าใจมิติของความขัดแย้งความรุนแรงจึงสามารถออกแบบการสอนที่เหมาะสม
ส่วนโครงสร้างจะต้องมีการผลิตสื่อที่มีความเหมาะสม สถาบันศาสนาจะเป็นพี่เลี้ยงให้ครอบครัวมีการทดลองสักพื้นที่แล้วมีการขยายผลสู่สังคมทั่วประเทศ จึงต้องสร้างโรงเรียนปลอดภัย ครอบครัวปลอดภัย ชุมชนมีความปลอดภัย ต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เราต้องมองต้นน้ำของความรุนแรงอย่างแท้จริงคือการปกป้อง , คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม หัวข้อ “ความเสมอภาคทางเพศ กับ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” สรุปใจความสำคัญได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นเพราะความไม่เสมอภาค โดยประเด็นความรุนแรงในครอบครัวจะต้องสร้างความเข้าใจให้มีความลึกซึ้ง
ซึ่งผู้ที่จะทำงานเกี่ยวกับความเสมอภาคจะต้องสร้างความเข้าใจในมิติของเพศ เวลาเราลงพื้นที่เรามักมองปัญหาไปที่คนอื่นเป็นส่วนมากแต่ไม่ได้มองปัญหามาที่ตนเองและช่วงสันติสานเสวนา เรื่อง“พระสงฆ์กับการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ดำเนินรายการเสวนาชวนคุย โดย คุณ แทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาดา โดยมีแขกรับเชิญร่วมเสวนา ประกอบด้วยทีมวิจัยครอบครัวพลังบวก ๔ ภาค ประกอบด้วย รศ.ดร วรวิทย์ นิเทศศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต วิทยาลัยเชียงใหม่ , พระมหาณัฐพันธ์ หาญพงษ์, ดร. เลขานุการหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต วิทยาเขตขอนแก่น , พระครูวินัยธรสุริยา สุริโย (คงคาไหว), ดร. ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ,พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา และเลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทภาคประชาชน มจร.
ซึ่งสรุปประเด็นได้ว่าบทบาทศาสนาเพื่อการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้นำศาสนาต้องไม่นิ่งเฉย ต้องร่วมมือกับเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรป้องกันความรุนแรงในครอบครัว โดยจัดให้มีหลักสูตร “ครอบครัวสันติสุข” มุ่งเชิงป้องกันมากกว่าแก้ไข มุ่งพัฒนาเครือข่ายให้มีความรู้ ความเข้าใจเป็นนักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง มุ่งให้พระสงฆ์มีวิธีการสื่อสารธรรมของผู้นำศาสนาให้สามารถเข้าใจเข้าถึงมีความง่าย พระสงฆ์ยกระดับเป็นพี่เลี้ยงชุมชนด้วยการผ่านการเข้ารับการพัฒนาฝึกอบรมหลักสูตรครอบครัวสันติสุข โดยผู้เป็นพี่เลี้ยงต้องเข้าใจเครื่องมือการเป็นวิทยากรกระบวนการ พี่เลี้ยง ที่เน้นการมีส่วนร่วมมากกว่าส่วนเกิน
ซึ่งควรเปิดวัดให้เป็นพื้นที่ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ และท้ายรายการ นางกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้กล่าวปิดงานและทิ้งท้ายไว้ว่าอยากให้มีการจัดเวทีเสวนาแบบนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางคณะผู้จัดงานได้เตรียมหัวข้อในมิติที่เป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องการหาคำตอบแห่งสันติภาพและเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมฟังกันแบบนี้ในทุกเดือน โดยวัตถุประสงค์นอกจากจะเป็นการให้บริการวิชาการของหลักสูตรสันติศึกษาแล้ว ยังเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้แก่สตรีที่สนใจงานด้านสันติภาพ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในมิติของผู้หญิงให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปค่ะ”