วันที่ 20 เมษายน 2561 ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่ออกตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สถาบันการศึกษา นายจ้าง ผู้ประกอบการ สภาวิชาชีพ และภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยปรับปรุงพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากที่ผ่านมากรมการจัดหางานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานราชการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า รวมจำนวน 145 หน่วยงาน โดยสรุปผลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากแบบสอบถามที่ตอบกลับ 324 ชุด ได้ ดังนี้ 1. งานที่ควรยกเลิกเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำมากที่สุด ได้แก่ งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 2. ขอให้แก้ไขชื่องานงานหรือลักษณะงานในอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ งานบัญชี งานนายหน้า หรืองานตัวแทน งานวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี 3. ขอให้เพิ่มงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น งานที่เกี่ยวกับความเป็นไทย หรือวัฒนธรรมของไทย รวมถึงกรณีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของกิจการหรือนายจ้าง เป็นต้น ครั้งที่ 2 ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาวิชาชีพ สมาคมหรือสมาพันธ์ ผู้ประกอบการค้า องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรและสื่อมวลชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนทั้งสิ้น 172 คน โดยสรุปผลความคิดเห็นได้ดังนี้ 1. ขอให้ยกเลิกงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ได้แก่ 1) งานกรรมกร 2) งานก่อสร้าง 3) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ 4) งานผลิตสินค้าในกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช้ทักษะฝีมือขั้นสูง เช่นงานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น และ 5)งานขายของหน้าร้าน และควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อไม่ให้คนต่างด้าวทำงานดังกล่าวโดยไม่มีนายจ้างหรือเจ้าของกิจการในการทำงานนั้นไว้ด้วย 2. ขอให้กำหนดงานที่ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเอกลักษณ์ไทย เช่น งานแกะสลักไม้ งานทำเครื่องเขิน งานทำเครื่องดนตรีไทย งานทำเครื่องถม เครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว เป็นต้น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ แต่ควรมีข้อยกเว้นให้คนต่างด้าวสามารถทำได้ ถ้าเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในกิจการดังกล่าว และไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเอกลักษณ์ไทย 3. งานในวิชาชีพ เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี งานให้บริการทางกฎหมาย หรืออรรถคดี เป็นต้น ยังคงห้ามคนต่างด้าวทำ 4. งานที่ควรห้ามคนต่างด้าวทำเพิ่มเติม ได้แก่ งานนวดไทย งานรักษาความปลอดภัย และงานนายแบบหรือนางแบบที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยในที่ประชุมขอให้กำหนดนิยามของงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำให้มีขอบเขตที่ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการทำงาน เศรษฐกิจ และสังคมในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคำนึงถึงความต้องการประกอบอาชีพของคนไทยและความมั่นคงของประเทศต่อไป ซึ่งต่อมาในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้การกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 นั้น ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอาจประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำก็ได้ โดยจะห้ามโดยเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แต่ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งความผูกพันหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ในลักษณะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติประกอบด้วย
จากการพิจารณารับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา กรมการจัดหางานเห็นว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกงานต่อไปนี้ คือ 1) งานกรรมกร 2) งานกสิกรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง 3) งานก่ออิฐ งานช่างไม้และงานก่อสร้างอื่น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานไทยทำงานดังกล่าว ส่วนงานขายของหน้าร้าน และงานที่ต้องการแรงงานจำนวนมากในภาคการผลิตอุตสาหกรรม เช่น งานทำที่นอน งานทำมีด งานทำรองเท้า งานทำหมวก งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องใช้การฝึกอบรมความรู้และไม่ใช่งานที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยแต่อย่างใด กรมการจัดหางานยังเห็นว่าคนไทยยังสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้ จึงเห็นว่ายังมีประเด็นที่ควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในมาตรา 7 เป็นไปอย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในวันนี้ จะได้นำไปประกอบการพิจารณากำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานได้พิจารณาก่อนจัดทำเป็นประกาศกระทรวงแรงงานต่อไป