สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) และสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จัดสัมมนาก่อนจบหลักสูตร “หลักสูตรการจัดกิจกรรม กศน. ป้องกันภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 แบบ Online ผ่านระบบประชุมออนไลน์ Zoom รุ่นที่ 3 ห้องเรียนที่ 3 ให้แก่ บุคลากรของ กศน.จำนวน 204 คน โดยมี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานก่อนกล่าวปิดการสัมมนาอย่างเป็นทางการในครั้งนี้
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดย สำนักงาน กศน.ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) และสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ได้ร่วมกันดำเนินการจัดสัมมนา หลักสูตรการจัดกิจกรรม กศน. ป้องกันภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นการรองรับให้บุคลากร กศน. มีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการขับเคลื่อน สนับสนุนและผลักดันให้บุคลากร กศน. มีความชัดเจนมากขึ้นในภารกิจใหม่ของการร่วมสร้าง “สังคมสูงอายุสุขภาวะ” ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในชุมชน ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่พวกเราชาว กศน. ได้พบกับภาคีบูรณาการที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและทำทุกวิถีทางโดยไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ สามารถนำไปเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างในการจัดการศึกษาภาคประชาชนได้หลายเรื่อง
ทั้งนี้ขอให้บุคลากร กศน. เชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพ ว่าพวกเราจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ขอให้พวกเราอย่าหยุดพัฒนาเมื่อจบการอบรมแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค-19 ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า กลุ่มวัยอื่น ๆ ก็ประสบกับภาวะซึมเศร้าด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนผ่านการเสียชีวิตและการฆ่าตัวตายรายวัน การหยิบยกปัญหาความเหงา ความหดหู่ ความซึม ความเศร้า และการป้องกันโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง มาเป็นประเด็นให้ กศน. พัฒนากิจกรรมเพื่อลด หรือป้องกันปัญหากลุ่มนี้ โดยเล็งเห็นว่าเป็นบทบาทหน้าที่ซึ่งตรงกับภารกิจหลัก ของ กศน. ในเรื่องการจัดการศึกษาภาคประชาชน และอยู่ในวิสัยที่บุคลากร กศน. ทำได้ หากได้รับการพัฒนาและต่อยอดต่อไป
ดร.กนกวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความขอบคุณคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่ร่วมมือและสนับสนุนสำนักงาน กศน.อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการจัดกิจกรรม กศน. ลดภาวะซึมเศร้า คงพัฒนาการทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ จะช่วยส่งเสริมบทบาท กศน. ในการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุให้ชัดเจนขึ้นมาในระดับประเทศ และถือเป็นหนึ่งของการมีส่วนในการร่วมสร้าง “สังคมสูงอายุ สุขภาวะ” ในอนาคต และกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมกับการต่อยอด ทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังกลุ่มวัยอื่นที่บุคลากร กศน. ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรมครั้งนี้
นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างของการทำให้นโยบาย กศน. WOW มีความชัดเจน อธิบายและยกตัวอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่อง Good Partnership ที่ร่วมกันสร้าง Good Teacher เพื่อไปสร้าง Good Activity ด้านการจัดกิจกรรมลดภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองขอผู้สูงอายุ ที่จะทำให้เกิด Good Place กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม โดยตั้งแต่ ปี 2563 จนถึงการปิดการอบรมสัมมนาในครั้งนี้ ได้แบ่งการจัดอบรมออกเป็น 3 รุ่น ๆ ละ 3 ห้องเรียน รวม 9 ห้องเรียน โดยสามารถดำเนินการได้รวมทั้งสิ้น 1,668 คน เป็นบุคลากร กศน. ใน 77 จังหวัด 795 อำเภอ