กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ห้ามนำแพทย์มาให้บริการโดยพลการ ชี้การเพิ่มแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องยื่นเรื่องเพื่อสกรีนคุณสมบัติให้เหมาะกับประเภทสถานพยาบาลทุกครั้ง
นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ด้วยในช่วงสิ้นปีน พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาครบรอบ 2 ทศวรรษในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล จะมี รพ.เอกชน และคลินิกที่จะต้องยื่นเรื่องขอต่ออายุใบอนุญาตฯ มากเป็นพิเศษ ตนจึงถือโอกาสนำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมายลงพื้นที่สุ่มตรวจมาตรฐานสถานพยาบาลเอกชนก่อนที่จะมีคำสั่งให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการฯ โดยจากการสุ่มตรวจมาตรฐานในช่วงที่ผ่านมาแม้จะไม่พบการกระทำความผิดร้ายแรง แต่ก็พบว่ามีการกระทำผิดมาตรฐานในคลินิกเสริมความงามบางแห่ง ที่มีการใช้แพทย์ผู้ให้บริการไม่ตรงกับที่แจ้งความจำนงกับกรม สบส.จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมให้คำแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะมีคำสั่งให้พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ต่อไป
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า แม้ว่าผู้ให้บริการจะเป็นแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การนำแพทย์มาให้บริการประจำสถานพยาบาลจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลกับผู้อนุญาต คือ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเสียก่อน เพื่อให้ผู้อนุญาตได้ตรวจสอบว่าแพทย์รายดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมาะสมกับประเภทของสถานพยาบาล และไม่มีเวลาปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกับสถานพยาบาลแห่งอื่น หาไม่แล้วจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 35 (3) ฐานไม่จัดให้มีหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ก่อนรับบริการทางการแพทย์ทุกครั้ง ขอให้ประชาชนตรวจสอบหลักฐานของแพทย์ผู้ให้บริการจากแบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับแพทย์ (ส.พ.6) ที่ติดอยู่บริเวณหน้าห้องตรวจ ซึ่งจะแสดง ชื่อ-นามสกุล, สาขาของแพทย์, เลขที่ใบอนุญาต และภาพถ่าย รวมทั้ง ตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) และหากเป็นการศัลยกรรมเสริมความงาม ก็ควรตรวจสอบว่าแพทย์รายดังกล่าวเป็นศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการศัลยกรรมเสริมความงามโดยตรงหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย (www.plasticsurgery.or.th) หากไม่พบรายชื่อแพทย์ หรือไม่ตรงกับหลักฐานที่แสดงหน้าห้องตรวจ ให้หลีกเลี่ยงการรับบริการ และแจ้งไปที่กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป *********************