วธ.ขับเคลื่อนโครงการ Big Data อย่างต่อเนื่องในปีงบฯ 2565 พร้อมให้แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้เครือข่ายทางวัฒนธรรมและประชาชนเข้าถึงง่ายและรวดเร็ว นำมาใช้สร้างสรรค์สินค้าและบริการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลใหญ่กระทรวงวัฒนธรรม (M-Culture Big Data) และการให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในภาพรวมของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อสนองตอบนโยบายประเทศไทย 4.0 และข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานรัฐพัฒนาระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานให้ครอบคลุมภารกิจที่มีอยู่ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานสังกัดวธ.เพื่อทำให้การบริการประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุดและขับเคลื่อนนโยบายวธ.ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมและนำคุณค่าทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมโดยการพัฒนาเว็บไซต์และปรับปรุงข้อมูลด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละหน่วยงานให้มีข้อมูลที่มีความทันสมัย เข้าถึงง่าย ใช้งานได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) ขณะนี้ได้ให้บริการข้อมูลชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศโดยนำเสนอข้อมูลสถานที่ในรูปแบบของภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ และกรมการศาสนา (ศน.) ให้บริการข้อมูลด้านศาสนสถาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมศิลปากร (ศก.) ให้บริการข้อมูลโรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ โดยได้พัฒนาข้อมูลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้มีความทันสมัยในรูปแบบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง (Virtual Museum) ในเว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดต่าง ๆ และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)ให้บริการข้อมูลทำเนียบศิลปิน ได้แก่ ศิลปาธร ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ มัณฑนศิลป์ วรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง สถาปัตยกรรม ออกแบบเครื่องแต่งกาย เรขศิลป์ หอศิลป์ในประเทศไทยและกรุงเทพมหานครและภูมิภาค รวมทั้งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ให้บริการข้อมูลศิลปินแห่งชาติและสินค้าทางวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ข้อมูลสินค้าวัฒนธรรมนั้น คาดว่าจะจัดทำข้อมูลแล้วเสร็จและให้บริการข้อมูลได้ในปีนี้ ขณะเดียวกันศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ให้บริการข้อมูลด้านแหล่งโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และชาติพันธุ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย แหล่งโบราณคดีสำคัญในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ ข้อมูลจดหมายเหตุดิจิทัล โควิด-19 และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้บริการข้อมูลองค์กรคุณธรรม
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ตนได้กำชับให้ทุกหน่วยงานสังกัดวธ.ดำเนินโครงการ Big Data อย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ชุมชนและผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในสาขาต่าง ๆ จะได้นำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนวัฒนธรรมไทย วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ช่วยส่งเสริมการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เข้าถึงการจ้างงาน การตลาด และการเรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการกระจายรายได้สู่ครัวเรือนได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมทำงาน วัฒนธรรมทำเงิน วัฒนธรรมทำดี” เพื่อให้สอดรับกับสังคมโลก เมื่อฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนวธ.ในรูปแบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่เพื่อสร้างรายได้จากตลาดโลกสู่ชุมชนด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยทุนชุมชน ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืนของชุมชนและประเทศชาติในอนาคต