ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์พายุโซนร้อน”ปาบึก”พัดถล่มพื้นที่ภาคใต้โดยได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะหลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบภัยในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ประชุมเตรียมการเพื่อติดตามดูแลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อซักซ้อมความพร้อมกับ สำนักงาน คปภ. ภาค 8-9 พร้อมกำหนดมาตรการ “ป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู” และให้บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ รวมทั้งได้มีหนังสือถึงสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทยเพื่อบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ พร้อมแจ้งให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยติดตามสถานการณ์ สรุปความเสียหายและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เพื่อออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูด้านการประกันภัยหลังจากที่พายุปาบึกได้ผ่านพ้นไป 6 มาตรการ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 เลขาธิการ คปภ. นำพนักงาน คปภ.และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ประกอบด้วย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย และชมรมประกันวินาศภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อมอบหม้อหุงข้าวพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 600 ชุด พร้อมจัดคาราวานให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จำนวน 3 จุด รวมทั้ง การร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรม Big Cleaning ให้กับชุมชนในพื้นที่
โดยจุดแรกได้มอบให้กับประชาชนผู้ประสบภัย อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเชียรใหญ่ จำนวน 100 ชุด โดยมีท่านวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้รับมอบ ณ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
จุดที่สอง ได้มอบให้ประชาชนผู้ประสบภัย จำนวน 250 ชุด ณ อาคารสถาบันการเงินชุมชนบ้านบางสะพาน ตำบลบ้านบางจาก อำเภอเมือง
จุดที่สาม ได้มอบให้ประชาชนผู้ประสบภัย จำนวน 250 ชุด ณ วัดบางบ่อ ตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อำเภอปากพนัง พร้อมร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรม Big Cleaning ให้กับชุมชนในพื้นที่
ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์สาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 222,737 ครัวเรือน และข้อมูลของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด พบว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้ง 23 อำเภอ รวม 155 ตำบล มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 100 หลัง เสียหายบางส่วน 5,146 หลัง โรงเรียนได้รับผลกระทบ 755 แห่ง วัด 151 แห่ง นอกจากนี้ยังมีความเสียหายด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงอีกจำนวนมาก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายครั้งนี้ เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศไม่อาจนิ่งดูดาย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จะใช้สรรพกำลังและเครือข่ายภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลความเสียหาย พบว่ามีจำนวนประชาชนทำประกันภัยน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อแนะนำความรู้เรื่องประกันภัยผ่าน โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนผู้ประสบภัยที่ทำประกันภัยไว้ ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมหรือไม่ เร่งสำรวจความเสียหายและแจ้งบริษัทที่รับประกันภัยโดยเร็ว สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยและซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ(ประเภท 1) หรือ กรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ รวมถึง กรมธรรมประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น
“สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกครั้งนี้ ปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สร้างความเสียหายให้กับชีวิต ทรัพย์สิน และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองและรายละเอียดข้อยกเว้นให้เข้าใจเพื่อให้ได้ความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย