เธอยังโอเคอยู่มั้ย แบ่งปันกันได้ที่ Club Wellness
ไม่เพียงแต่การดำเนินชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนอีกด้วย จากที่เคยนั่งเรียนในห้องเรียน มีเพื่อน ๆ นั่งอยู่รายล้อม มีครู อาจารย์เขียนกระดาน สอนหนังสืออยู่หน้าชั้นเรียน แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อการเรียนในห้องเรียน ต้องเปลี่ยนเป็นห้องของตัวเอง นั่งเรียนอยู่ที่บ้านผ่านรูปแบบออนไลน์ ทำให้เด็ก ๆ อาจเกิดความเครียด วิตกกังวล และคาดหวังว่าจะเรียนได้เต็มที่เหมือนตอนเรียนที่โรงเรียนไหม เกิดการเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
“เพราะ…ความเครียด เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเร่งแก้ไข การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจจึงสำคัญ” คำกล่าวของ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวถึงการเปิดตัวเฟซบุ๊กแฟนเพจ “CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ จากผลสำรวจในช่วงโควิด-19 พบว่า เด็กและเยาวชนที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน เกิดความเครียด วิตกกังวล จากการเข้าสังคมกับเพื่อนและครู รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะด้านจิตใจของคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 15 – 19 ปี ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต
“ สสส. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านจิตวิทยาเด็กและเยาวชน เปิดเฟซบุ๊ก “CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ” ในรูปแบบกลุ่มปิด (Closed Group) เปิดช่องทางให้เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาความเครียดสะสม วิตกกังวล ได้มีพื้นที่ส่วนตัวเรียนรู้ทักษะการจัดการกับความเครียด การรับมือกับปัญหา ร่วมแบ่งปันพลังใจ ร่วมสร้างแรงบันดาลใจ พูดคุยประสบการณ์กับเพื่อนสมาชิก และรับแนวทางดูแลสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สร้างภูมิคุ้มใจให้เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหานั้นได้” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ดร. สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจนักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง และผู้ให้คำปรึกษาประจำเฟซบุ๊กแฟนเพจ CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ง่ายสำหรับใครเลย การประคองตัวเองให้ยืนระยะได้นานที่สุด เป็นวิธีที่จะพาเราผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และสำคัญไม่อยากให้คาดหวังว่า การเรียนการสอน เกรดเฉลี่ย จะเป็นตัวกำหนดชีวิตเรา
“การศึกษาเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิต จุดที่ดีที่สุดไม่ใช่การแข่งขันเพื่อให้เกรดเฉลี่ยต้องดีทุกวิชา จนทำให้เกิดความเครียด กดดันตัวเอง แต่สำคัญที่ว่า สุดท้ายแล้วการรู้ตัวเองว่า ชอบอะไร อยากทำอะไร และสิ่งไหนที่เหมาะกับเรา อาจโฟกัสกับวิชาที่สอดคล้องกับชีวิตและคิดว่าได้ใช้ในอนาคต สำคัญที่สุดต้องมีจุดพักผ่อน เพื่อให้ได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป เมื่อความรู้สึกเกิดความสมดุล ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้” ดร. สุววุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการปรึกษา จากเพจนักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง ยังได้แนะนำ “วิธีฝึกปฏิบัติที่ง่ายที่สุดในการคลายความเครียด” ด้วยว่า
1.การสังเกตตัวเอง อารมณ์ ความรู้สึก เช่น หากทำบางกิจกรรมอยู่แล้วรู้สึกอึดอัด ควรหาที่มาของปัญหา อาจเพราะใส่ใจคนอื่นมากไปหรือพยายามบังคับตัวเองให้เป็นในแบบที่คนอื่นต้องการ พยายามเป็นเหมือนคนอื่น ๆ จนเสียความเป็นตัวเอง
2.รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ให้โฟกัสกับสิ่งนั้น และไม่กดดันตัวเองมากเกินไป
3.มองหาทางเลือกอื่น เมื่อเห็นปัญหาให้หาทางเลือกที่ทำให้รู้สึกสบายใจในการใช้ชีวิต รักตัวเองให้มากขึ้น
4.สร้างความสมดุล เมื่อเกิดความเครียด จะต้องมีจุดพักผ่อน ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
ทั้งนี้ วัยรุ่นที่มีความเครียด สามารถเข้าร่วมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ CLUB WELLNESS กลุ่มแบ่งปันพลังใจ https://www.facebook.com/groups/clubwellnessthailand เพื่อฟื้นฟูสุขภาวะด้านจิตใจ ลดความวิตกกังวลถึงปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดความเครียด นำไปสู่การสร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตทั้งการเรียนและความสัมพันธ์ในครอบครัวต่อไปได้
ไม่เพียงแต่การณรงค์เรื่องเหล้า บุหรี่ เท่านั้น ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากความเครียดเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะด้านจิตใจของคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ ทักษะการจัดการและรับมือกับปัญหา เพื่อสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ