“ตรีนุช” ส่งครูนักประเมินเก็บข้อมูลสะท้อนนโยบาย ศธ.

รมว.ศึกษาธิการ จับมือ 4 มหาวิทยาลัย ปฐมนิเทศเตรียม “อาสาสมัครครูนักประเมิน” ก่อนลุยเก็บข้อมูลพื้นที่ หวังรับทราบข้อเท็จจริงที่สะท้อนถึงนโยบาย เพื่อปรับมาตรการช่วยเหลือเด็ก ครู ผู้ปกครอง ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการปฐมนิเทศ “อาสาสมัครครูนักประเมิน” (Rapid Appraisal Volunteer : RAV) ผ่านระบบออนไลน์ว่า การปฐมนิเทศครั้งนี้มีคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วยครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ที่สมัครเข้ามาเป็นอาสาสมัครครูนักประเมิน กว่า 250 คนเข้าร่วม ซึ่งตนขอขอบคุณอาสาสมัครทุกคน ที่เสียสละเวลา และได้อาสาเข้ามาช่วยเหลืองานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำให้เห็นถึงน้ำใจ และความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ได้ทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากความผันผวนของการแพร่ระบาดของโควิด- 19 และบริบทของสถานศึกษาทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ส่งผลให้โรงเรียนต้องเปิด-ปิดสถานศึกษาบ่อยครั้ง ดังนั้น ศธ.จึงจำเป็นต้องหาแนวทางที่ยืดหยุ่น เหมาะสมตามสภาพพื้นที่และทันสถานการณ์ ซึ่งกระบวนการประเมินแบบเร่งด่วน (rapid appraisal) นี้เป็นโครงการสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นกลไกใหม่ ที่สามารถทำให้รับรู้ข้อมูลในพื้นที่จากสภาพจริงและเชื่อถือได้ เพื่อทำให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่สะท้อนถึงนโยบายต่างๆ ของ ศธ. ว่าเกิดผลดีต่อผู้ปฏิบัติ หรือจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไรให้สอดคล้องกับการปฏิบัติในพื้นที่นั้นๆ โดยอาศัยอาสาสมัครครู และนักประเมินทุกท่าน ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะ เพื่อนำผลมาปรับเปลี่ยนมาตรการในการดูแลให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับบริบทของพื้นที่มากที่สุด

“ดิฉันได้รับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคณาจารย์ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่เราจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยนไป เราต้องมาร่วมกันคิดว่าผู้เรียนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างไร ครูจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้ผู้เรียน และครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้ในสถานการณ์นี้ โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินโครงการไปหลายโครงการ สิ่งหนึ่งที่พยายามทำในตอนนี้ คือ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน การประเมิน การลดภาระครู การปลดล๊อกการบริหารจัดการแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัว ให้สามารถนำเงินงบประมาณมาใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละบริบทของพื้นที่ รวมถึงมีการเสนอมาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง ซึ่งดิฉันในฐานะรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ และในอีกฐานะหนึ่งก็เป็นผู้ปกครอง ย่อมเข้าใจความรู้สึกของผู้ปกครองที่มีความห่วงใยในบุตรหลานดิฉันจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านพ้นสภาวการณ์นี้ไปด้วยกัน” นางสาวตรีนุช กล่าว.