พาณิชย์เปิดโพลโอกาสสินค้าไทยและยุทธศาสตร์รุกมณฑลกวางตุ้ง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยว่า หลังจาก สนค. ได้เสนอภาพรวม ยุทธศาสตร์รุกจีน “3 แนวคิด 7 แนวทาง รุกตลาดจีน” สร้างมูลค่าส่งออก 1 แสนล้านเหรียญฯ  ไปแล้วนั้น เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า นโยบายต่าง ๆ และโอกาสทางการค้าของไทยเป็นรายมณฑล จึงขอเสนอผลการศึกษาโอกาสการส่งออกของไทยไปยังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีการนำเข้าประมาณ 3.14 แสนล้านเหรีญฯ หรือร้อยละ 19.2 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของประเทศจีน และร้อยละ 27.2 ของการนำเข้าสินค้าจากไทยที่ส่งออกไปจีนทั้งหมด

ผลการศึกษาพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

(1) สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน แต่ยังส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งได้ต่ำกว่าศักยภาพมีมูลค่า 4,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มมากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย (1) เครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าเพิ่มอีก 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2) เครื่องมือแพทย์/อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ มูลค่าเพิ่มอีก 648 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ (3) เครื่องจักร/เครื่องใช้กล มูลค่าเพิ่มอีก 417 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น วรจรอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ เป็นสินค้าเกษตร 304 ล้านเหรียญฯ เช่น ข้าว (148 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สิ่งสกัดจากมอลต์ (48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และไก่แช่เย็น/แช่แข็ง (33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นต้น

(2) โอกาสส่งออกไทยไปมณฑลกวางตุ้งในปี 2570 สามารถกำหนดเป้าหมายที่ 3.13-3.33 หมื่นล้านเหรียญฯ จากมูลค่าเฉลี่ยปัจจุบันที่ 10,663 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 3 ระดับ คือ

  • เป้าหมายที่ 1 เพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 14,865 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นร้อยละ 4.7 (ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดในมณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 3.4) ของการนำเข้ารวมของมณฑลกวางตุ้ง โดยเร่งส่งออกสินค้าที่ไทยแข่งขันได้ แต่ยังมีการส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งต่ำกว่าศักยภาพ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ เครื่องจักร ให้มีมูลค่าเพิ่มอีก 4,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • เป้าหมายที่ 2 เพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 17,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงรุก โดยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นร้อยละ 5.5 หรือเพิ่มมูลค่าอีกประมาณ 2,465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเน้นเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ เช่น
  • อุปกรณ์สื่อสาร มูลค่าการนำเข้า 2.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • เพชร (HS 7102) มูลค่าการนำเข้า 4.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม มูลค่าการนำเข้า 386 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ขนมปัง/เค้ก/บิสกิต มูลค่าการนำเข้า 353 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • เป้าหมายที่ 3 เป็นเป้าหมายระยะยาว โดยเพิ่มการส่งออกเป็น 31,350-33,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2570 โดยการรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 5.5 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการนำเข้ารวมของมณฑลกวางตุ้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.7-6.0 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9-4.7 ต่อปี

นางสาวพิมพ์ชนกอธิบายเพิ่มเติมว่า มณฑลกวางตุ้งมีความโดดเด่นในหลายด้าน ได้แก่ (1) GDP เป็นอันดับที่ 1 ของจีน มีมูลค่า 1.33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และสามารถเทียบเท่ากับประเทศอันดับที่ 15 ของโลก มีมูลค่ามากกว่า GDP รวมของ CLMV ถึง 4 เท่า (2) รายได้ต่อหัว 12,010 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 8 ของมณฑลจีน และอยู่ในเกณฑ์ที่เข้าใกล้ประเทศที่มีรายได้สูง (High-income country) (3) จำนวนประชากร 111 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 1 ของมณฑลจีน สามารถเทียบเท่ากับประเทศอันดับที่ 12 ของโลก หากเทียบกับประเทศในอาเซียนพบว่า น้อยกว่าอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น (4) การนำเข้ามีมูลค่า 3.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (รองจากอันดับที่ 1 คือ เมืองเซี่ยงไฮ้) และเทียบได้กับอันดับที่ 16 ของโลก (5) เป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางเรือและทางอากาศ โดยมีสนามบินถึง 4 สนามบิน รองรับผู้โดยสารมากถึง 120 ล้านคน และมีท่าเรือ 3 แห่ง ซึ่งท่าเรือเมืองเซินเจิ้นและกว่างโจวใหญ่เป็นอันดับ 3 และ 7 ของโลก และ (6) เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนที่อนุมัติให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-commerce) ถึง 4 เมือง รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างนโยบายการยกเว้นวีซ่าเป็นเวลา 144 ชั่วโมง หรือ 6 วัน เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนทางการค้าของไทยในมณฑลกวางตุ้ง พบว่า (1) ความต้องการสินค้านำเข้าที่หลากหลาย โดยรายการสินค้าที่มูลค่านำเข้ามากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมากถึง 938 รายการ (จากจำนวนสินค้าประมาณ 1,300 รายการ) (2) ขนาดตลาดมีมูลค่าสูง (3) รายได้ต่อหัวและจำนวนประชากรสูง (4) สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่นิยม และ (5) ไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่มณฑลกวางตุ้งต้องการนำเข้าอยู่แล้ว

จากการวิเคราะห์ข้างต้นสำหรับยุทธศาสตร์ “3 แนวคิด 7 แนวทาง รุกตลาดจีน” โดย “3 แนวคิดพื้นฐาน คือ กรอบการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย แนวคิดที่ 1 คือ กำหนดสินค้าที่มีศักยภาพ แนวคิดที่ 2 คือ ประสานนโยบายการพัฒนาที่สำคัญของสองประเทศ เช่น นโยบาย OBOR ของจีน กับ EEC และ Thailand 4.0 และ แนวคิดที่ 3 คือ ความถนัด ความเชี่ยวชาญ หรือ DNA เฉพาะของแต่ละมณฑล/เมือง

สำหรับ “7 แนวทาง” กลยุทธ์รุกตลาดกวางตุ้งเพื่อส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2570 จะประกอบด้วย

(1) สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน แต่ยังส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งต่ำกว่าศักยภาพ เน้นทำตลาดโดยเฉพาะข้าว รวมทั้งยกระดับสินค้า (market positioning) สินค้าเป็นสินค้ามูลค่าสูง/เพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวออร์แกนิค เป็นต้น นอกจากนี้ เน้นการดึงดูดการลงทุนในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและการส่งออกแต่ยังส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งไม่มากนัก โดยเชื่อมโยงกับแนวความคิดการลงทุนในประเทศที่สามของความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์  รวมทั้งสินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของโลก อย่างเช่นอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น

(2) สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และสามารถส่งออกไปมณฑลกวางตุ้งได้ดีอยู่แล้ว เน้นรักษามาตรฐานสินค้า/ต่อยอดความนิยมในสินค้าเกษตรไปยังสินค้าเกษตรหรือผลไม้อื่น ๆ เช่น มังคุดและลำไย

(3) สินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันต่ำ เน้นพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งอาหารสำเร็จรูปและเครื่องสำอาง เนื่องจากความต้องการของตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรในการทำการตลาดทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในจีน นอกจากนี้ เร่งทำตลาดอัญมณีหรือร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าเพื่อเข้าถึงตลาดมากขึ้น

(4) เน้นเจาะพื้นที่รายเมืองที่มีศักยภาพสูง โดยกวางตุ้งมีถึง 4 เมืองที่ติดอยู่ใน 50 เมืองแรกที่มีรายได้ตัวหัวสูงสุด ประกอบด้วย เซินเจิ้น (32,351 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคน เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ)
กว่างโจว
(เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ) ฝอซาน (เป็นอันดับที่ 14 ของประเทศ)  และตงกวน (เป็นอันดับที่ 29) โดยทั้ง 4 เมืองมีรายได้ต่อหัวเข้าเกณฑ์ high income country

(5) เน้นการทำตลาดแบบ O2O (Online/Offline) ด้านออฟไลน์ เน้นการแสดงสินค้าตามจุดยุทธศาสตร์ และตั้งเป้าเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทยให้มากขึ้น ส่วนด้านออนไลน์ ทำการส่งเสริมการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะ 4 เมืองที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-commerce) โดยเฉพาะกว่างโจ เซินเจิ้น จู่ไห่ และตงกวน เป็นต้น

(6) ร่วมก่ออิฐสร้างเมืองใหญ่ โดยให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะ 2 เมืองรอง ภายใต้นโยบาย “Greater Zhengzhou” ซึ่งนอกจากเมืองกว่างโจวซึ่งมีประชากร 14 ล้านคน ยังประกอบด้วยเมืองฝอซานและเมืองจ้าวชิ่ง

(7) มุ่งเน้นและเร่งสร้างความสัมพันธ์ในทุกมิติ ซึ่งในมณฑลกวางตุ้งอาจจะเน้นไปทางด้านส่งเสริมการค้าระดับรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยเฉพาะการส่งออกข้าว ขณะที่ระดับประเทศกับระดับมณฑล โดยใช้ต้นแบบจากสิงคโปร์อย่างความร่วมมือ The Singapore-Guangdong Collaboration Council (SGCC) ที่มีขึ้นนับตั้งแต่ปี 2552

นางสาวพิมพ์ชนกสรุปว่า จากการศึกษาวิเคราะห์ในรายมณฑลพบว่าไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกไปยังมณฑลกวางตุ้งได้อีกมาก จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกไปต่ำกว่าศักยภาพถึง 4,201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับระดับรายได้ของมณฑลกวางตุ้งกำลังขยับเข้าสู่เกณฑ์ประเทศที่มีรายได้สูง จึงเป็นโอกาสของไทยในการรุกการส่งออกสินค้าตลาดระดับบนคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ หรือสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์สื่อสาร อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องเร่งพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้และตรงตามความต้องการของตลาด

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์