กสม. ร่วมมูลนิธิเมาไม่ขับ จัดเวทีถกความปลอดภัยในการโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ เผยเด็กไทยเสียชีวิตวันละ ๑๐ ราย ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกกันน็อก ชี้ไม่ใช่เพียงหน้าที่พ่อแม่คุ้มครองบุตร – จี้หน่วยงานรัฐร่วมรับผิดชอบ
วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๒ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ความปลอดภัยในการโดยสารรถจักรยานยนต์ : สิทธิลูกหลานไทยที่ต้องคุ้มครอง”
ณ ห้องประชุม ๗๐๙ ชั้น ๗ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดเวทีว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก โดยเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ยมากถึงปีละ ๒,๕๑๐ ราย ซึ่งเยาวชนอายุ ๑๕ – ๒๕ ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด และหากนับเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ๗ วันอันตราย ระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ – ๒ มกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา พบว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ ๗๙.๕๓ อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์จึงเกิดขึ้นมากที่สุดตลอดปีและทุกเทศกาลของไทย ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติไปอย่างไร้เหตุผล เพียงเพราะความประมาท ไม่ป้องกันตัว ไม่จริงจังกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นเพื่อให้การปกป้องลูกหลานของเราจากภยันตรายที่เกิดขึ้นโดยรถจักรยานยนต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กสม. และมูลนิธิเมาไม่ขับ จึงได้จัดเวทีสาธารณะในวันนี้ขึ้นเพื่อรณรงค์การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองกลุ่มเด็กและเยาวชนให้สวมหมวกนิรภัยในการขับขี่และโดยสาร
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับและเลขาธิการชมรมคนห่วงหัว อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดที่ ๒) เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลผู้เสียชีวิตบนท้องถนน ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ พบว่า ในทุก ๆ วัน เด็กและเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยเฉลี่ย ๑๐ คน/วัน โดยร้อยละ ๘๐ เสียชีวิตจากการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์เพราะไม่สวมหมวกนิรภัย ขณะที่กลุ่มเด็กเล็กที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีสถิติการสวมหมวกนิรภัยที่ต่ำมากเพียงร้อยละ ๗ จึงเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องสิทธิความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของเด็กโดยเฉพาะอันตรายที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ได้รับการคุ้มครอง “การเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ เพราะการขับขี่ไม่ปลอดภัย หรือ การไม่ใส่หมวกกันน็อกให้เด็ก ไม่ใช่เพียงภาระหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองในการคุ้มครองบุตรหลาน แต่หน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐต้องร่วมรับผิดชอบและให้ความคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของเด็ก ซึ่งขณะนี้ ยังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง” นายแพทย์แท้จริง กล่าว
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นสาเหตุอันดับ ๒ ของการเสียชีวิตในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ปี รองจากอุบัติเหตุจากการจมน้ำ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มเด็กอายุ ๑๐ – ๑๘ ปี อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ ๑ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขและคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของเด็ก ดังที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๖ (๒) ระบุว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลของเด็กที่อยู่ในความดูแลของตนจนน่าเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ทั้งนี้ เนื่องจากการเสียชีวิตของเยาวชนของชาติย่อมสร้างผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายและการลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะที่เพียงพอและปลอดภัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยไม่ต้องเสี่ยงภัยกับอุบัติเหตุบนท้องถนน
ด้านนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตผู้แทนกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายในเด็กนอกจากการไม่เคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่แล้ว อีกด้านหนึ่งคือ การขาดการวางแผนการเดินทางที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่รวมถึงสถาบันการศึกษา ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากดูตัวอย่างในต่างประเทศพบว่า บางประเทศไม่ยอมให้เด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ แต่มีการวางแผนให้เด็กเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนด้วยระบบรถโรงเรียนที่ปลอดภัย
ดังนั้น การคุ้มครองเด็กให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยเฉพาะการโดยสารรถจักรยานยนต์ จึงไม่ควรใช้เพียงมาตรการทางกฎหมาย แต่ยังต้องใช้มาตรการเชิงบริหารด้วย เช่น หน่วยงานที่ใกล้ชิดครอบครัวที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงศึกษาธิการ ควรเข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องการเดินทางที่ปลอดภัยจากบ้านไปโรงเรียน ขณะที่
กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรบรรจุเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กไว้ในแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการรณรงค์และคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของเด็กจากการเดินทางได้อย่างเป็นระบบต่อไป
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๗ มกราคม ๒๕๖๒
สำนักส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร