สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : เพกา…สมุนไพรลดไขมันตัวร้าย (LDL)

พกา หรือ ลิ้นฟ้า หมากลิ้นฟ้า เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน มีการใช้มานาน เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด และบำรุงร่างกายของคนสมัยก่อน มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย โดยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป ถึงแม้ว่าเพกาจะขึ้นอยู่ในหลายประเทศ แต่ดูเหมือนจะมีแต่ชาวไทยเท่านั้นที่นำเพกามากินเป็นผัก เป็นอาหารในชีวิตประจำวัน

ฝักอ่อนเพกา มีวิตามินซีสูงมาก ช่วยบำรุงร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อม ส่วนที่นิยมกินกันก็คือ ยอดอ่อน ฝักอ่อน เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก ราดกะทิ เผาไฟแล้วซอยทำยำ

มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากผล(ฝัก) ของเพกา ที่ความเข้มข้นสูง (200 μg mL− 1) มีฤทธิ์ต้านการสะสมของไขมันในเซลล์ไขมัน (Antiadipogenesis) ได้เทียบเท่ายา simvastatin สารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ baicalein และ chrysin  จากผลการศึกษานี้ คาดว่าจะนำเพกามาใช้ในการพัฒนาเป็นยาลดไขมันในเลือดและป้องกันโรคอ้วนได้

การศึกษาเบื้องต้นทางคลินิก พบว่า การรับประทานแคปซูลเพกา ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล มีส่วนประกอบ คือ เพกา, ขิง และกระชาย ครั้งละ 3 แคปซูล (1.2 กรัม) วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีผลในการลดระดับไขมันตัวร้ายแอลดีแอล ได้ประมาณร้อยละ 5 *มีนัยสำคัญทางสถิติ

ประโยชน์อื่นๆ ของเพกา

  1. เมล็ดของเพกามีรสเย็น เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผสมอยู่ในน้ำจับเลี้ยงของจีน เป็นยาเย็น มีฤทธิ์แก้ไอขับเสมหะ
  2. ในฝักเพกา มีวิตามินซีสูงมากถึง 484 มิลลิกรัม/100กรัม สูงพอๆกับมะขามป้อมที่ได้ชื่อว่ามีวิตามินซีสูงที่สุด ในบรรดาผลไม้ทั้งหลาย ในขณะที่มะนาวแหล่งวิตามินซีที่คนทั่วไปรู้จัก มีเพียง 20 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม นี่คงเป็นสาเหตุให้ ฝักเพกามีชื่อเสียงในด้านการป้องกันโรค ทำให้ไม่เจ็บป่วย สู้กับหวัดได้ทุกสายพันธุ์
  3. ใบ เป็นยาเย็น เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาเขียว สรรพคุณฝาด ขม แก้ปวดข้อ แก้ปวดท้อง เจริญอาหาร
  4. ราก รสฝาดขมร้อน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ขับเสมหะ ขับน้ำออกจากร่างกายเป็นยาแก้ท้องร่วง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อักเสบฟกบวม
  5. เปลือกต้น รสฝาด เย็น ขมเล็กน้อย สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย ดับพิษโลหิต แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้เสมหะ ขัยเสมหะ บำรุงโลหิต ขับเลือดเน่า ทาแก้ปวดฝี บม
  6. เมล็ด ต้มกินเป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ
  7. ยอดอ่อน กินเป็นผักสด ลวกกิน เผากินได้

ข้อควรระวัง

  1. หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะมีฤทธิ์ร้อน โดยอาจทำให้แท้งบุตรได้
  2. ควรระวังในการใช้เพการ่วมกับยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด เช่น แอสไพริน (aspirin) ,วาฟาริน (warfarin) , สารสกัดแปะก๊วย (Ginko biloba)
  3. เพกาเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
  4. เมล็ดแก่ มีพิษ ห้ามกินดิบ

แหล่งอ้างอิง

Hengpratom T, et al. Antiadipogenesis of Oroxylum indicum (L.) Kurz Extract via PPARγ2 in 3T3-L1 Adipocytes. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine 2020

สอบถามปรึกษาการใช้ยาได้ที่

ไลน์คลินิกแพทย์แผนไทย @abhthaimed หรือคลิกลิ้งค์ https://lin.ee/47PRVjiFz