พิษพายุ”ปาบึก”ทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีลมแรง ฝนตกหนัก เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้สัตว์มีสภาวะเครียด ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลงเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้สัตว์เจ็บป่วย หรือลุกลามจนเกิดโรคระบาดได้ กรมปศุสัตว์จึงขอให้เกษตรกรดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองอย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่พร้อมช่วยรักษาฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เพื่อลดการสูญเสียชีวิตสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ”ปาบึก” ทำให้หลายพื้นที่สภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวน ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วม อุณหภูมิเริ่มลดลง ซึ่งในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้สัตว์เกิดสภาวะเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ อาทิเช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคคอบวมในโค-กระบือ โรคอหิวาต์ในสุกร โรคเพิร์ส ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ในสุกร และโรคระบาดในสัตว์ปีก อาทิเช่น โรคนิวคาสเซิล และกาฬโรคเป็ด เป็นต้น กรมปศุสัตว์จึงขอให้เกษตรกรดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองอย่างใกล้ชิด ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคาป้องกันฝน ลม ละอองฝนได้เป็นอย่างดี มีการจัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์ วิตามินและเวชภัณฑ์สัตว์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง และที่สำคัญต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากบริเวณฟาร์มเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดดังกล่าวข้างต้นพร้อมทั้งหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือในพื้นที่ใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทันที หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ จะได้เข้าตรวจสอบ เก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัย ทางห้องปฏิบัติการ ค้นหาสาเหตุของการเกิดโรค และควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ช่วยลดความเสียหายจากโรคระบาด สำหรับกรณีคอก หรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์อยู่ในที่ลุ่มต่ำถูกน้ำท่วม ควรอพยพสัตว์ไว้ที่สูงมีที่หลบฝนสำหรับสัตว์ หรือจุดอพยพสัตว์ใกล้บ้านที่กรมปศุสัตว์จัดเตรียมไว้ให้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรมปศุสัตว์ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ประสบภัยเตรียมอาหารสัตว์ ยาและวิตามินสำหรับสัตว์ ไว้ให้พร้อม รวมถึงได้จัดกำลังเสริมชุดพิเศษหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ให้คำแนะนำดูแลด้านสุขภาพสัตว์ ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ สนับสนุนหญ้าอาหารสัตว์ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดสัตว์อย่างเข้มงวด
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์