หญ้ายุ่ม หรือ หญ้าหียุ่ม หรือชื่อที่เรียกให้ดูไม่เขิลอายว่า หญ้ารีแพร์ ได้ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ปี2557 เป็นพืชสมุนไพรที่ได้ข้อมูลจากหมอบาพื้นบ้าน มีการใช้กันมายาวนาน ประสบการณ์มากมาย คำว่า “ยุ่ม” เป็นคำในภาษาอีสาน หมายถึง รัดเข้า บีบ รวบเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แน่นขึ้น เช่น ยุ่มปากถุงไม่ให้คลายออก ดังนั้นสมุนไพรที่ได้ชื่อว่า หญ้าหียุ่ม ก็เนื่องจากคนโบราณนำมาใช้แล้ว เห็นถึงสรรพคุณของหญ้าชนิดนี้ว่า ช่วยให้น้องหนูของผู้หญิงที่คลอดลูก “ยุ่ม” เข้าหากัน คือ กลับมากระชับเหมือนเดิมนั่นเอง
พ่อหมอแม่หมอเมืองเลยช่วยกันบรรยายสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้ปนเสียงหัวเราะและรอยยิ้มว่า “คนแต่ก่อน เพินออกลูกแล้ว มดลูกมันหย่อน บ่เข้าอู่ บางเทือเป็นแผลฉีก ฝีเย็บขาด อักเสบได้ ผู้เฒ่าเพินกะให้เอาหญ้าหียุ่มนี่แล้ว มาต้มฮม ต้มกิน รักษาแผลให้ยุ่มเข้า กินแล้วท้องสบาย บีบมดลูกให้แห้งเข้า ขับน้ำคาวปลา ฮมบาดแผลให้แห้งเร็ว เห็นแต่หายดีคือเก่า ปานบ่มีลูก มีผัวพู่นตั้ว”
นอกจากที่เมืองเลยแล้ว ที่บ้านดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี แหล่งปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ก็ใช้หญ้าหียุ่มในผู้หญิงหลังคลอดทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วมาตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน คุณสำเนียง ภรรยาคุณสมัย คูณสุข ผู้นำกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง เล่าให้ฟังว่า เคยใช้ตอนออกลูกครั้งแรก ตามวิธีการที่คนเฒ่าคนแก่บอก คือ ให้เอาขอนดอก คือ ขอนไม้ที่ผุ มาจุดไฟ แล้วเอาหญ้าหียุ่มทั้งห้า สดหรือแห้งก็ได้ มากำใหญ่ วางบนขอนดอกที่ก่อไฟไว้ จะเกิดควันขึ้น จากนั้นผู้หญิงก็นุ่งผ้าซิ่นโดยถอดกางเกงในออก แล้วให้ไปยืนกวมหรือคร่อมขอนแล้วให้ถ่างผ้าถุงออกกว้าง ๆ ให้ควันของหญ้าหียุ่มรมเข้าไปในผ้าถุงตรงบริเวณปากช่องคลอด จะทำให้คืนความกระชับ มดลูกเข้าอู่เร็ว ให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง คุณสำเนียงยืนยันว่าทำแล้วให้รู้สึกว่าดีจริง การจะมีอะไรกันหลังมีลูก สามีก็ไม่ต้องรอนาน การรมนั้นอาจใช้วิธีนั่งถ่านแล้วใช้สมุนไพรหญ้าหียุ่มแทนก็ได้
การใช้หญ้าหียุ่มในแม่หญิงที่เพิ่งคลอดลูก เพื่อช่วยกระชับช่องคลอด ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และรักษาแผลได้ด้วย ช่างเป็นความเฉลียวฉลาดของคนโบราณที่รู้ปัญหาของลูกผู้หญิง และขวนขวายหาสมุนไพรมาช่วยดูแลให้อีก ตามหลักวิทยาศาสตร์ การใช้ยารมเป็นการใช้ความร้อนช่วยลดการอักเสบ และมีสรรพคุณฆ่าเชื้อโรค และหญ้าชนิดนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกับไผ่ซึ่งมีสารซิลิกาที่มีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูและสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ แต่คำอธิบายที่เป็นวิชาการเหล่านี้ ก็ยังไม่หนักแน่นเท่ากับประสบการณ์ตรงของปู่ยาตายายซึ่งมีมายาวนาน
การศึกษาสมัยใหม่ พบว่า หญ้ายุ่ม มีสารกลุ่มฟีนอลิก(phenolic compounds) และกลุ่มฟลาโวนอยด์สูง คล้ายกับ ไผ่ ทำหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่างๆในร่างกาย ยับยั้งการทำลายคอลลาเจนและอีลาสติน ช่วยคงความยืดหยุ่นของผิวได้ ในหญ้ายุ่มประกอบด้วย ซิลิกา ธรรมชาติ สูงถึง 6.15% ซึ่งสูงกว่ากล้วยน้ำว้า 34 เท่า มีประโยชน์ในการช่วยบำรุงผิวให้เต่งตึง ฟู กระชับ กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ (ประมาณซิลิกาที่ร่างกายควรได้รับต่อวันคือ 20-30 มิลลิกรัม)
ตัวอย่างตำรับยายาใช้รักษาแผลให้ยุ่มเข้า กินแล้วท้องสบาย บีบมดลูกให้แห้ง ขับน้ำคาวปลา
สำหรับรมบาดแผลให้แห้ง (ตำรับตาเพ็ง กับตาบุญ สุขบัว และตาวิน ตุ้มทอง)
นำหญ้าหียุ่มทั้งห้า 1 กำมือใหญ่ ใส่หม้อนึ่งแล้วต้มให้ยาสุก จากนั้นตักน้ำยาไว้กิน อาจเก็บใส่กระติกน้ำร้อนไว้กินแทนน้ำ หากใช้วิธีรม ให้ใช้ผ้ามาคลุมโดยยืนคร่อมหม้อ ให้ไอน้ำรมตรงบริเวณปากช่องคลอด ทำเช้า-เย็น
ยาสตรีออกลูกแล้วฝีเย็บขาด รักษาแผล มดลูกกระชับ (ตำรับยายสอน แสงสุข)
นำหญ้าหียุ่มทั้งห้า 1 กำมือใหญ่ มาเผาไฟ ให้ควันขึ้น แล้วยืนเอาผ้าล้อมไว้ ถอดผ้านุ่งออก ให้ควันโดนฝีเย็บ ให้ทำทุกวัน เวลาเช้า-เย็น