กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สั่งการหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ภายหลังเหตุการณ์พายุและฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะโรคที่สำคัญ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง รวมถึงการประชาสัมพันธ์เตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายในช่วงกลับเข้าบ้าน ทั้งไฟฟ้าดูด สัตว์มีพิษเข้าบ้าน และระวังเด็กจมน้ำ
วันที่ 5 มกราคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เหตุการณ์ลมพายุและฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ประชาชนที่อาศัยในศูนย์อพยพต่างๆ เตรียมกลับเข้าบ้านเช่นเดิม กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าดูด สัตว์มีพิษเข้าบ้าน และระวังเด็กจมน้ำ รวมถึงเฝ้าระวังโรคสำคัญต่างๆ ที่อาจพบผู้ป่วยได้ง่ายในพื้นที่ดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับประชาชนที่เริ่มทยอยกลับเข้าบ้าน สิ่งแรกที่ต้องระมัดระวังคือระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเข้าอยู่อาศัย โดยสำรวจระบบไฟฟ้ารอบบ้านด้วยความระมัดระวัง ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วมมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ควรให้ช่างผู้ชำนาญตรวจสอบก่อน อย่าแตะสวิทซ์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก หากจะเสียบปลั๊กต้องมั่นใจว่าร่างกายแห้งสนิท หากไม่แน่ใจก่อนเสียบปลั๊กก็ควรสวมรองเท้าทุกครั้ง ถ้าพบผู้ถูกไฟฟ้าดูดให้ช่วยเหลือเบื้องต้น อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูดจนได้รับอันตรายไปด้วย ให้ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง สายยางหรือพลาสติกแห้ง ผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็วหรือตัดกระแสไฟฟ้า จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที โทร.1669
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นที่ต้องระวังก่อนเข้าบ้านคือสัตว์มีพิษ เพราะในช่วงฝนตกอาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน เช่น รองเท้า ตู้เก็บของ ครัว เป็นต้น ก่อนเข้าสำรวจบ้านควรแต่งกายให้มิดชิด กางเกงขายาว สวมถุงพลาสติกหุ้มปลายขากางเกงทั้งสองข้างแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปในกางเกง จากนั้นเริ่มสำรวจจุดต่างๆ ของบ้าน หากพบควรตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ ให้เรียกคนมาช่วย นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรระมัดระวังอย่าปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำ แม้เป็นบริเวณใกล้ๆ บ้านก็ตาม เนื่องจากบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักและและอาจมีน้ำท่วมขังหรือมีน้ำไหลแรง อาจทำให้เกิดการกัดเซาะพื้นดินและเกิดเป็นจุดน้ำลึกใหม่ เสี่ยงที่เด็กจะจมน้ำได้ และควรเตรียมอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น แกลลอนพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ใช้สำหรับช่วยพยุงตัวไว้ใกล้บ้านเสมอ
ส่วนโรคสำคัญที่ต้องระมัดระวังและอาจพบได้ง่ายในพื้นที่ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส เนื่องจากสภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง เชื้อโรคอาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อจะสามารถเข้าทางบาดแผลหรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ โดยในช่วงกลับเข้าบ้านจะพบขยะมูลฝอยในพื้นที่จำนวนมาก มักเป็นแหล่งอาศัยของหนู ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญของโรคดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนได้ช่วยกันแยกขยะเปียกและขยะแห้ง ถุงเศษอาหารควรใส่ภาชนะที่มีฝาปิดเพื่อป้องกันสัตว์กัดแทะ ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมรองเท้าบูทและหน้ากากอนามัยเวลาเก็บขยะมูลฝอย ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง สำหรับโรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่สะอาด ค้างคืน มีแมลงวันตอม รวมถึงดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค การป้องกันโรคสามารถทำได้โดยหมั่นล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนปรุงประกอบอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ กำจัดขยะมูลฝอยเศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” และควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ ดื่มน้ำสะอาด ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้สั่งการให้กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 5 จังหวัดราชบุรี สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 12 จังหวัดสงขลา ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ ภายหลังจากเหตุการณ์พายุและฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*********************************************
ข้อมูลจาก : กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค