กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตเมืองนครศรีธรรมราช และพื้นที่อำเภอรอบนอก หลังพายุ “ปาบึก” เคลื่อนผ่านไปลงทะเลอันดามันแล้ว
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) หลังจากขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.62 เวลา 12.45 น. ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลกระทบในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี มีน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำปัตตานี เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตชุมชนบ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี ระดับน้ำสูงประมาณ 11 เซนติเมตร
สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำสูงเฉลี่ยประมาณ 50 เซนติเมตร คาดว่าระดับน้ำ จะท่วมสูงสุดประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร ในช่วงบ่ายของวันนี้ (5 ม.ค.62) ) ซึ่งกรมชลประทาน ได้ร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เร่งระบายน้ำออกทะเล โดยใช้เครื่องสูบน้ำ 17 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 24 เครื่อง
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่รอบนอกที่มีน้ำท่วมขัง ได้แก่ อำเภอปากพนัง มีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณโรงเรียนปากพนัง ระดับสูงเฉลี่ย 0.50 – 1.10 เมตร กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 26 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 26 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ได้ตั้งจุดพักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือประชาชน 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณที่ทำการฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังตอนล่าง มีประชาชนมาพัก 30 คน บริเวณที่ทำการฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังตอนล่าง มีประชาชนมาพัก 25 คน และที่ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีประชาชนมาพัก จำนวน 200 คน ในพื้นที่อำเภอทุ่งสง มีน้ำท่วมขังบริเวณตลาดทุ่งสง และสถานีรถไฟทุ่งสง ระดับสูง 0.50 – 1.20 เมตร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณเขตเทศบาลทุ่งสงเร่งระบายน้ำแล้ว ส่วนที่อำเภอหัวไทร มีน้ำท่วมขังบริเวณริมชายทะเล สูงเฉลี่ย 30 – 50 เซนติเมตร เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน โดยได้ติตตั้ง เครื่องสูบน้ำ Hydro flow ขนาด 3.5 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง
ทั้งนี้ แม้ว่าพายุโซนร้อน “ปาบึก” จะเคลื่อนผ่านไปลงทะเลอันดามันแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
******************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ
กรมชลประทาน
5 มกราคม 2562