“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 ธันวาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 3,444 ราย ใน 14 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สงขลา 165.47 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นสตูล(70.92) ภูเก็ต(45.47) ปัตตานี(36.86) และนราธิวาส(36.32) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในบางอำเภอในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้และกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชน ดังนี้ หากมีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ภาคใต้ในช่วง 14 วันก่อนป่วย ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้ไปขายเป็นรายได้เสริม และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย หากประชาชนพบเห็นผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนสามารถแจ้งสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค