ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” หรือเรียกโดยย่อว่า ศศช. สถานศึกษา กศน.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่สูง รวมถึงหมู่เกาะ ใน 14 จังหวัด จำนวน 798 แห่ง และในจำนวนนี้มี ศศช. 282 แห่ง ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดย ศศช. ทุกแห่ง ดำเนินการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชนโดยยึดชุมชนเป็นหลัก กล่าวคือจัดการศึกษาและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนทั้งชุมชน ในพื้นที่ทุรกันดารให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้พื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง และดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถดำรงชีวิตด้วยความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 สำนักงาน กศน. โดยสถาบัน กศน.ภาคเหนือและกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย ได้จัดประชุมนำเสนอผลการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (Database System of Mae Fah Luang Hill Area Community Learning Center) หรือ ระบบ DM-HACLC (ดีเอ็มแฮก) ผ่าน ระบบ Zoom Meeting โดย ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้มอบหมายให้ ดร.วัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงาน กศน. เป็นประธานการประชุม ในการประชุมดังกล่าวได้นำเสนอผลการพัฒนาระบบ DM-HACLC ซึ่งระบบนี้เป็นระบบการรายงานข้อมูลการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่จัดในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ผ่านระบบเทคโนโลยี ซึ่งฐานข้อมูลประกอบไปด้วย
1) ข้อมูลทั่วไป ศศช.
2) ข้อมูลครู ศศช.
3) ข้อมูลรายบุคคล/ครัวเรือน
4) ข้อมูลหมู่บ้าน/ชุมชน
5) ข้อมูลโครงการ กิจกรรม ศศช.
6) ข้อมูลเครือข่าย ศศช.
ระบบดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรายงานผลของ ครู ศศช. ครูบนพื้นที่สูงในการจัดเก็บข้อมูลและรายงานข้อมูล ตลอดจนทำให้ผู้ใช้ระบบทุกระดับสามารถใช้ข้อมูลในระบบงานต่าง ๆ ร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความซ้ำซ้อนหรือความขัดแย้งของข้อมูล อีกทั้งข้อมูลในระบบจะมีความถูกต้อง ชัดเจน เชื่อถือได้ เป็นปัจจุบัน สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ทันที สะดวก รวดเร็วในการสืบค้นข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
ขณะเดียวกัน เลขาธิการ กศน. ได้มอบแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาในชุมชนบนพื้นที่สูงว่า ในการดำเนินงานบนพื้นที่สูง กศน.ได้เข้าไปเติมเต็มทั้งทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอ่านออก เขียนได้ การรู้หนังสือและการฝึกอาชีพ ให้กับประชาชนบนพื้นที่สูงและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการจัดแหล่งเรียนรู้ด้วย แต่ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องระบบฐานข้อมูลทำให้การนำไปใช้ในการวางแผนต่างๆ จึงเป็นที่มาของการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งทาง สำนักงาน กศน.คาดหวังว่าฐานข้อมูลนี้จะทำให้ข้อมูลของ ศศช.ทั่วประเทศเป็นระบบมากขึ้น มีความทันสมัย เรียกดูข้อมูลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วอันเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวางแผนการพัฒนา ศศช.ในการจัดการศึกษาให้สามารถเข้าถึงความต้องการของผู้รับบริการในทุกกลุ่ม ทุกรูปแบบได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงได้รับโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การนำระบบ DM-HACLC มาใช้งานเพื่อประมวลผล นอกจากอำนวยความสะดวกในการทำงานแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในสำนักงาน กศน. ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านั้น มาวางแผนการจัดการศึกษา หรือ สนับสนุนปัจจัยทางการศึกษา ให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน และกลุ่มเป้าหมายในชุมชนพื้นที่ ที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคม และชุมชนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป