แพทย์ชนบทบุกกรุงเทพฯ ตรวจโควิดเชิงรุกชุมชนผู้มีรายได้น้อย ด้าน พอช.หนุนชาวบ้าน 31 เมือง 332 ชุมชนแก้ผลกระทบจากโควิด

พอช./ แพทย์ชนบทหลายจังหวัดระดมพลบุกกรุงเทพฯ ตรวจโควิดเชิงรุกชุมชนผู้มีรายได้น้อยกว่า 30 ชุมชน โดยในวันนี้ตรวจโควิดที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ  มีชาวบ้านจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคและชาวชุมชนใกล้เคียงประมาณ 800 คนเข้าตรวจขณะที่ พอช.หนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อย 31 เมือง 332 ชุมชนสู้ภัยโควิด-19 จัดกิจกรรม 107 แผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เช่น เตรียมจุดพักคอยประสานการตรวจเชื้อ-ฉีดวัคซีนแก้ไขปัญหาปากท้องจำหน่ายอาหารและสินค้าจำเป็นราคาถูกช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง  ฯลฯ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายประชาชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพ.ศ.) ได้ร่วมกันสนับสนุนการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกให้แก่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ 30 ชุมชนตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แพทย์ชนบทตั้งจุดตรวจโควิดเชิงรุกที่ พอช.และอีก 30 ชุมชนในกรุงเทพฯ

ล่าสุดวันนที่ (21 กรกฎาคม) ทีมแพทย์ชนบทจากจังหวัดสุโขทัยจำนวน 12 คน  และอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ได้จัดตั้งจุดบริการตรวจหาเชื้อโควิดที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ มีชาวบ้านจากเครือข่ายสลัม 4 ภาคจากชุมชนต่างๆ เจ้าหน้าที่ พอช. และชาวชุมชนใกล้เคียงจำนวนมากเดินทางมาตรวจตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. โดยมี นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบทเดินทางมาให้กำลังใจทีมงาน  และให้ความรู้เพื่อป้องกันโรคโควิดแก่ผู้มาตรวจเชื้อด้วย

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า วันนี้ชมรมแพทย์ชนบทจากจังหวัดสุโขทัยได้มาตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ พอช. โดยมีชาวบ้านจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายของ พอช. ประมาณ 800 คนตรวจหาเชื้อในวันนี้ถือเป็นการตรวจเชิงรุกและอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวชุมชนที่ยังไม่ได้รับการตรวจและนอกจากการตรวจที่ พอช.แล้วในวันนี้ทีมแพทย์ชนบทยังเข้าไปตรวจเชิงรุกในชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ อีกประมาณ 10 ชุมชนด้วย

โดยทีมแพทย์ชนบทจะตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) เพื่อให้สามารถตรวจได้จำนวนมากรู้ผลได้ภายในเวลาประมาณ 30 นาที หากพบว่าผู้ตรวจรายใดติดเชื้อ ทีมแพทย์จะทำการตรวจซ้ำเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนหากพบว่าติดเชื้อจริงทีมแพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาตัวที่บ้าน หรือสถานที่พักคอยในชุมชน (Home isolation และ Community Isolation)

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนจนคนที่มีรายได้น้อยมีจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลเร่งจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนทุกคนได้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน   

2.ระบบการดูแลผู้ที่ติดเชื้อที่บ้านและในชุมชนยังมีอุปสรรคจากกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ทำให้การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ 

3.ขอให้รัฐจัดระบบสวัสดิการให้แก่ประชาชนในรูปแบบของ ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ใช่การช่วยเหลือเฉพาะหน้าหรือช่วยเหลือเป็นครั้งๆ ตามสิทธิของพลเมืองไทยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ”เลขาธิการ มพ.ศ.กล่าว

ทั้งนี้ชมรมแพทย์ชนบทที่เข้ามาตรวจโควิดเชิงรุกให้ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยทีมแพทย์จากนครศรีธรรมราช, ขอนแก่น, รพ.จะนะ, รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จ.สงขลา , รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส, รพ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี, รพ.บ่อเกลือ จ.น่าน, ทีมแพทย์จาก จ.สุโขทัย  ฯลฯ  รวมทั้งหมดประมาณ 100 คน ตั้งเป้าจะตรวจโควิดเชิงรุกได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คนภายในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองโควิดที่ พอช. นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวไปแล้วยังมีภาคเอกชนโดยบริษัท​เออร์บันคลีนซินเนอร์จีมาช่วยสนับสนุนการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อหลังการตรวจหาเชื้อในวันนี้ด้วย

‘พอช.’ หนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อย 31 เมือง 332 ชุมชนสู้ภัยโควิด-19 นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในเขตแพร่ระบาดสูงสุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะชาวชุมชนแออัด ชาวชุมเมืองที่มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ผลกระทบทางด้านสุขภาพอนามัยเพราะที่อยู่อาศัยมีความคับแคบประชากรหนาแน่นโอกาสการแพร่เชื้อติดต่อกันจึงมีมากและที่สำคัญคือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องเพราะขาดรายได้ ตกงาน ไม่มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว

“กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงมีแนวทางการช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิดในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเร่งด่วน โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้ใช้กลไกต่างๆ ที่ชุมชนมีการจัดตั้งอยู่แล้วเช่น เครือข่ายบ้านมั่นคง  สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิดได้รวมกลุ่มกันจัดทำแผนงานและกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยคณะกรรมการสถาบันฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนชุมชนจำนวน 30 ล้านบาท” นายสมชาติ  ผอ.พอช. กล่าว

นายสมชาติบอกว่า พอช.ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทเพื่อจัดทำ โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายชุมชนในระดับเมือง (ในกรุงเทพฯ คือระดับเขต) และชุมชนผู้มีรายได้น้อยได้จัดทำแผนงานการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค การเตรียมจัดทำสถานที่พักคอยลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจส่งเสริมอาชีพรายได้ ฯลฯ โดยเครือข่ายชุมชนฯ และชุมชนได้เสนอโครงการมาที่ พอช. และ พอช.ได้อนุมัติโครงการเพื่อสนับสนุนชุมชนดำเนินการไปแล้ว (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึง 20 กรกฎาคม) รวม 31 เมือง 332 ชุมชนกลุ่มเป้าหมายรวม 67,978 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 1,113 ชุมชน)

ส่วนงบประมาณสนับสนุนแบ่งเป็น

1.เมืองใหญ่ (เกิน 20 ชุมชน) พื้นที่สีแดงมีชาวชุมชนต้องกักตัวเกิน 81 คนขึ้นไปสนับสนุนงบประมาณ 150,000 บาท

2.พื้นที่สีแดงอ่อนกักตัวระหว่าง 31-80 คน สนับสนุนงบฯ 100,000 บาท

3.พื้นที่สีเหลือง กักตัวไม่เกิน 30 คน สนับสนุนงบฯ 80,000 บาทและสนับสนุนในระดับชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท รวมงบที่พอช.อนุมัติแล้วทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาท)

ทั้งนี้พื้นที่ 31 เมือง 332 ชุมชนที่เสนอโครงการและผ่านการอนุมัติแล้ว  รวม 107 แผนงาน/กิจกรรม แบ่งเป็น

1.ศูนย์พักคอยเตรียมส่ง รพ. 22 %

2.อบรมอาชีพ 19 %

3.จำหน่ายอาหาร ข้าวสาร สินค้าจำเป็น ราคาทุน 14 %

4.แจกอาหาร ข้าวสาร ให้ผู้กักตัว กลุ่มเปราะบาง 13 %

5.เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน (เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขอบต. รพ.สต. สปสช.) 13 %

6.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ รับบริจาค รวบรวมข้อมูล ประสานงานการตรวจและลงทะเบียนฉีดวัคซีน หา รพ.

7.ครัวกลาง 6 % ทำอาหารแจกหรือขายราคาถูก (อิ่มละ10- 20 บาท) คนลำบากกินฟรี เพื่อลดการออกไปนอกชุมชนลดโอกาสเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ ฯลฯ

ส่วนชุมชนที่จัดทำโครงการ เช่น เมืองบางบอน (สภาองค์กรชุมชนเขตบางบอน กรุงเทพฯ) รวม 34 ชุมชน จัดทำโครงการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น ติดตั้งเครื่องสแกนอุณหภูมิวัดไข้ในชุมชนจำหน่ายอาหาร ข้าวสาร สิ่งของจำเป็นในราคาถูกให้แก่ชาวชุมชน แจกอาหารฟรีให้ผู้กักตัวกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง 22 ชุมชน มีกิจกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง มอบอาหารให้ผู้กักตัวเตรียมพื้นที่พักคอย สร้างแหล่งอาหารปลูกผักในพื้นที่ 1 ไร่ เลี้ยงปลาดุก 6 บ่อ ฯลฯ

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลของชุมชนเครือข่ายที่เสนอโครงการมายัง พอช.จำนวน 332 ชุมชนล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุรวม 24,473 คน ผู้พิการติดเตียง รวม 11,610 คน ผู้สูงอายุ +พิการ รวม 3,735 คน เด็กเล็ก 0-5 ปี รวม 9,886 คน ผู้ติดเชื้อ รวม 4,078 คน ผู้กักตัว รวม 8,148 คน ผู้ได้รับผลกระทบด้านอาชีพรายได้รวม 17,959 คน ชุมชนติดเชื้อสะสมจำนวน 421 ชุมชน ผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 3,551 คน เสียชีวิต รวม 59 คน

*****************