นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรีได้มีประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 กำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงสนพระราชหฤทัยและห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย ทั้งทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการทรงงานเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการและแนวพระราชดำริต่างๆของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติได้จัดงาน วันภาษาไทยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้รู้รักภาษาไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้เพิ่มความรุนแรงเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และยังไม่อาจกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดได้แน่นอน ดังนั้น วธ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา จึงกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 โดยเน้นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย การเผยแพร่คำปราศรัย และบันทึกเทปโทรทัศน์การจัดกิจกรรมต่างๆ เผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ยังได้จัดกิจกรรมคัดเลือกและประกวดผู้เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง บุคคล องค์กรที่มีบทบาทส่งเสริมและสร้างคุณประโยชน์และผู้มีผลงานสร้างสรรค์ด้านการใช้ภาษาไทยหรือภาษาถิ่นได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการยกย่องบุคคลในวงการเพลง ทั้งนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์และคีตศิลป์และจินตนาการได้อย่างเหมาะสม โดยมีกิจกรรมได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ. ) คัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์โดยมีผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศผู้ใช้ภาษาไทยสร้างสรรค์ 3 รางวัล ดังนี้
1.ประเภทบุคคล พระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ
2.ประเภทรายการโทรทัศน์ รายการคุณพระช่วย ทางสถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพอยท์ (Workpoint TV) และ
3.ประเภทสื่อวิทยุกระจายเสียง โครงการ รู้ รัก ภาษาไทย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เอฟเอ็ม 92.5 เมกะเฮิรตซ์
ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)ได้คัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่นและผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย โดยมีผู้ได้รับคัดเลือกรวม 24 รางวัล ประกอบด้วย
1.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่ รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา รศ.นันทา ขุนภักดี และผศ.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ
2.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประกอบด้วย น.ส.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ผศ.ธานีรัตน์ จัตุทะศรี รศ.บุณยเสนอ ตรีวิเศษ น.ส.รัดเกล้า อามระดิษ น.ส.รัศมี มณีนิล นางสุชาดี มณีวงศ์ นางสุมาลี สุวรรณกร น.ส.หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา นายอนุวัฒน์ แก้วลอย นายอภิชาติ ดำดี นายอภินันท์ สิริรัตนจิตต์ นายอรรถเวทย์ สุนทรพานิชกิจ และประเภทชาวต่างประเทศ น.ส.ชิน คึน เฮ(Miss Shin,Keun Hye)
3.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ได้แก่ นายชาตรี เสงี่ยมวงศ์ นายถนอม ปาจา นายสมชาย ทองศรีเทพ
4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย บุคคล ได้แก่ พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ) นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ และองค์กร ได้แก่ มูลนิธิศาสตราจารย์จำนงค์ทองประเสริฐ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
สำหรับผลการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) โดยกรมศิลปากร(ศก.) มีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 19 รางวัล ดังนี้ 1.รางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วยรางวัลเชิดชูเกียรติ องค์กรสนับสนุนวัฒนธรรมดนตรีไทย ได้แก่ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)และรางวัลเชิดชูเกียรติ โครงการสืบสานเพลงไทยประทับใจในอดีต ได้แก่ โครงการ “ศาลาเฉลิมกรุง…สืบสานตำนานเพลง”
2.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่
(2.1) การประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงศิลปินแห่งชาติ ผู้ประพันธ์ นายชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงลม ผู้ประพันธ์ นายณพสิน แสงสุวรรณ (หนุ่ม กะลา)
(2.2) การประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแรงก้อนสุดท้าย ผู้ประพันธ์ นายสลา คุณวุฒิ และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแม่นั่งแลทาง ผู้ประพันธ์ น.ส.ธนภัค สิทธิชัย (ดวงพร สิทธิชัย)
(2.3) การประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลงซากไม้ชายน้ำ ผู้ประพันธ์ นายพยัพ คำพันธุ์ และเพลงเขาเป็นหญิง เธอเป็นชาย ผู้ประพันธ์ นายสุทธิยงค์ เมฆวัฒนา (เทียรี่ เมฆวัฒนา)
3.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย
(3.1)การขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลงให้โลกได้เห็น (น้ำใจคนไทย) ผู้ขับร้อง นายธงไชย แมคอินไตย์ (เบิร์ด ธงไชย)และเพลงลม ผู้ขับร้อง นายณพสิน แสงสุวรรณ (หนุ่ม กะลา)
(3.2)การขับร้องเพลงไทยสากลหญิง รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เพลงลมหายใจ ผู้ขับร้อง น.ส.ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ และเพลงบัวขาว ผู้ขับร้อง น.ส.สาธิดา พรหมพิริยะ
(3.3)การขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงโธ่…น้องกลอย ผู้ขับร้อง นายธนพล สัมมาพรต (แจ๊ค ธนพล) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแรงก้อนสุดท้าย ผู้ขับร้อง สิบเอก กิตติคุน บุญค้ำจุน (มนต์แคน แก่นคูน)
(3.4)การขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแฟนเก่าเขาลืม ผู้ขับร้อง น.ส.ภัทริยา รัตนพันธ์ (แอม ภัทริยา) และรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เพลงเทิดทูนพระคุณท่าน ผู้ขับร้อง น.ส.ชญาภา พงศ์สุภาชาคริต (บูม ชญาภา)
(3.5)การขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงรักคนอื่นไม่ได้เลย ผู้ขับร้อง นายวิชาญ ศรีฟอง (รอน อรัณย์) และรางวัลรองชนะเลิศ เพลงนักรบชุดขาว ผู้ขับร้อง นายวรพล นวลผกา (น็อต ไผ่ร้อยกอ)
(3.6)การขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง รางวัลชมเชย เพลงมนุษย์ ผู้ขับร้อง น.ส.ณริสสา ดำเนินผล (ฟ้า ขวัญนคร)
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า วธ.ยังได้ดำเนินการการคัดเลือกและประกวดอื่นๆ ได้แก่ การประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ การประกวดสื่อสร้างสรรค์วันภาษาไทยแห่งชาติพ.ศ.2564 หัวข้อ “ตระหนัก รักษ์ ภาษาไทย” และการคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่านและการเขียน ที่สำคัญ วธ.ได้จัดทำวีดิทัศน์สารคดีพิเศษวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 และวีดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก“ปทานุกรมและอักษรนิติ (แบบเรียนไทยสมัยรัชกาลที่ 4 )” นอกจากนี้ วธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆและสถานศึกษาจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติในรูปแบบออนไลน์ เช่น การประกวดการพูดเชิงสร้างสรรค์ การประกวดสุนทรพจน์ภาษาไทย และการอบรมครูภาษาไทย ทั้งนี้ วธ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทย และร่วมใจธำรงรักษาภาษาไทยไว้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยสืบไป