วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มอบหมายให้ นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปิดกรวยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ กล่าวน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และร่วมกล่าวคำปฏิญาณ “เราทำความดี ด้วย หัวใจ” โดยมี นางจิระพา มากมณี รองนายกเหล่ากาชาด นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายนิคม หอยแก้ว ปลัดอาวุโสอำเภอทุ่งสง ส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนจิตอาสา เจ้าของแปลง CLM เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ตลอดจนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (Community Lab Model For Quality Of Life : CLM) ตำบลควนกรด ของนายสนั่น คำแหง หมู่ที่ 1 ตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จากทางรัฐบาลผ่านกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 22,063,800 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดทั้งสิ้น จำนวน 156 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) จำนวน 12 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) จำนวน 144 แห่ง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 8,870,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน 139 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 95 แห่ง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 44 แห่ง ในส่วนของอำเภอทุ่งสง มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 156 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) จำนวน 12 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) จำนวน 144 แห่ง
ซึ่งพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ อยู่ภายในพื้นที่อำเภอทุ่งสงทั้งหมด ในส่วนของพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 5 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 7 แปลง รวมทั้งหมด 12 แปลง เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 954,000บาท อีกทั้งยังมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 120 คน ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สำหรับกิจกรรมการเอามื้อสามัคคีเป็นการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (Community Lab Model For Quality Of Life : CLM) ตำบลควนกรด ของนายสนั่น คำแหง พื้นที่ขนาด 15 ไร่ โดยมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การร่วมกันเอามื้อห่มดิน ร่วมกันปลูกหญ้าแฝก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ รวมทั้งการปลูกพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร กระวาน รากสามสิบ ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพาและพริก การปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น และพืชเศรษฐกิจ เช่น มังคุด ทุเรียน ยางนา เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมจะส่งเสริมให้เกิดเป็นเครือข่ายเอามื้อสามัคคีของครัวเรือนต้นแบบ ที่คอยช่วยเหลือกันเอามื้อสามัคคีในแปลงอื่นๆ เกิดความสามัคคีปรองดอง เป็นพลังชุมชนที่เข้มแข็งมั่นคง พออยู่ พอกิน พอใช้และพอร่มเย็น พร้อมรับมือกับปัญหาด้านต่างๆได้
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สมุนไพรไทย นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้ เช่น กระชาย พบว่า สารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดกราโฟไลด์ ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลน์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่า สมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย ที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ถือว่ามีความเสี่ยงที่น้อย แต่กลับได้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าและทั่วถึงตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นหลักประกันในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งรัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว จากการได้รับอนุมัติงบประมาณกว่า 4,700 ล้านบาท ภายใต้งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดการจัดกิจกรรมในภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 30 คน มีการตรวจวัดอุณหภูมิ และปฏิบัติการมาตรการป้องกันฯ อย่างเคร่งครัด
นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม เราชาวนคร คือ อารยชน มุ่งมั่น สร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาเมืองนคร
เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 Change for good
สถานีข่าวพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงาน