ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 61 – 2 ม.ค. 62 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,892 คน ทั้งนี้ ศปถ.ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยกำชับจังหวัดถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด และสร้างให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการ
ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 2 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 369 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 391 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.35 และขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.53 รถปิคอัพ 5.70 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 68.56 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.46 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.25 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.64 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,052 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,644 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 890,673 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 182,023 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 46,248 ราย ไม่มีใบขับขี่ 41,473 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (17 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (18 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (27 ธ.ค.61 – 2 ม.ค. 62) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,892 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก แพร่ สตูล และสมุทรสงคราม จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (118 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (25 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (137 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.39 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.30 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.64 รถปิคอัพ 6.95
ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.89 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.30 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.90 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.78
นายสุธี มากบุญ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 79.64 ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการนายอำเภอบรรจุเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและสงบเรียบร้อยอำเภอ พร้อมกำชับให้จังหวัดถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง คือ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ทั้งนี้ ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง ด้วยความทุ่มเท และเสียสละ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.)กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และถอดบทเรียนการดำเนินงาน พร้อมนำความสำเร็จของจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นต้นแบบในการวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน รวมถึงมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน สภาพรถและเส้นทาง เพื่อนำปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานมาปรับปรุงพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกช่องทางสื่อ เพื่อขับเคลื่อนการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด และสร้างให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน