วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นางมุกดา หลิมนุกูล พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต มอบหมาย นางธนพร ไฝพรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกิจกรรม “คดห่อ ซอแรง” แปลงต้นแบบบ้านยามู ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงระดับหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” โดยมี นายพุฒินันท์ เกษทองมา พัฒนาการอำเภอถลาง นำทีมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอถลาง นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำชุมชนร่วมกิจกรรม ณ แปลงพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality of life : HLM) ของ นายวีระ ชาญเขต หมู่ที่ 7 บ้านยามู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
นางธนพร ไฝพรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน (สพจ.ภูเก็ต) เปิดเผยว่า “จังหวัดภูเก็ต ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมแห่งความสมัครสมานสามัคคี และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงระดับหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ “เอามื้อ สามัคคี” หรือคนท้องที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คดห่อ ซอแรง” ในแนวคิด “คึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง” และการลงมือปฏิบัติจริง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเดิมที่พบในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เป็นกระบวนการทำงานที่นอกจากการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักกสิกรรมธรรมชาติแล้ว ที่สำคัญที่สุดยังเป็นการพัฒนาคนผ่านการลงมือทำ ในมิติต่างๆ อาทิ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มิติทางสังคมที่สร้างความสนิทสนมมักคุ้นกันของผู้เข้าร่วมกิจกรรม สานประโยชน์ไปยังการสร้างเครือข่าย ที่จะคอยเกื้อกูลกันในแปลงอื่น ๆ เป็นพลังเปลี่ยนแปลงโลกไปในทิศทางที่ดี
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก นายวีระ ชาญเขต เจ้าของแปลงพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality of life : HLM) ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านยามู ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งภาคีเครือข่ายทุกคน ได้รวมพลังผ่านกิจกรรม ได้แก่ การขุดคลองใส่ไก่เพื่อกักเก็บน้ำ กระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณพื้นที่เพาะปลูก และปรับสภาพน้ำเนื่องจากดินเป็นกรด ,การยกร่องเพื่อเตรียมใช้ในการปลูกพืช ผักสวนครัว และทำนั่งร้านในการปลูกถั่วพู ,ปล่อยปลาหมอ จำนวน 100 ตัว เมื่อเสร็จจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ทุกคนได้รับประทานอาหาร โดยแต่ละคนนำอาหาร หิ้วปิ่นโต จากบ้านตนเอง ซึ่งวัตถุดิบบางส่วนเป็นผลผลิตจากการทำเกษตรในครัวเรือนมาแบ่งปันกัน สร้างบรรยากาศให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้ทำจริง ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ หนุนนำให้ครัวเรือนมีความมั่นคง พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และที่สำคัญคือมีการปรับทัศนคติให้ได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อนำความรู้คู่คุณธรรมมาเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
ในส่วนของพื้นที่แปลงของนายวีระ ชาญเขต ในหมู่ที่ 7 บ้านยามู ตำบลป่าคลอก เป็น 1 ใน 6 พื้นที่เรียนรู้ชุมชน ในอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดำเนินการในพื้นที่ขนาด 1 ไร่ โดยขุดปรับพื้นที่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ตามแบบแปลนมาตรฐานกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 1: 3 ดินเหนียวปนทราย ตามภูมิสังคม เมื่อดำเนินการขุดปรับแต่งพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อให้เกิดเป็นป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง อาทิ ต้นมะฮอกกานี ต้นสัก ต้นตะเคียนทอง ต้นชะอม กล้วยหอม และการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร อาทิ พริก กะเพรา โหระพา ตะไคร้ มะเขือ ขมิ้นถั่วพู และเลี้ยงปลาหมอ
โดยมีแนวทางสร้างสมดุลในพื้นที่แปลงทุกตารางนิ้ว ให้สามารถสร้างรายได้ในอนาคต และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้แก่คนในชุมชน ท้องถิ่น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และยกระดับขีดความสามารถของชุมชนให้พึ่งตัวเองได้ ผ่านกลไกการสร้างความสามัคคีโดยทุกองคาพยพ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนตลอดชีวิต ทุกช่วงวัย ก่อให้เกิดผลดีต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”
ด้านนายวีระ ชาญเขต เจ้าของแปลง เปิดเผยว่า “มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ได้ช่วยเหลือ และสนับสนุนโครงการฯ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ทำให้ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม และขุดปรับพื้นที่แปลงตามแนวทางที่มีมาตรฐาน และหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่มีประโยชน์ซึ่งเข้ามาช่วยชีวิตของตน ทำให้พื้นที่ทำกินที่เป็นชีวิตจิตใจในการเลี้ยงชีพแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าสภาพดิน น้ำ อากาศ จะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อได้ลงมือปฏิบัติทำให้เห็นคุณค่า และเข้าใจลึกซึ้งว่า ทำไมต้องขุดคลองไส้ไก่ ทำไมต้องมีหลุมขนมครก ทำไมต้องทำฝายชะลอน้ำ ทำไมต้องปลูกป่า 5 ระดับ ตามลักษณะภูมิสังคม จึงมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะขอน้อมนำศาสตร์อันมีค่านี้พลิกฟื้นผืนดินให้เป็นแหล่งทำกินสร้างความเข้มแข็งให้กับครัวเรือน เมื่อเพียงพอแล้วจะแบ่งปันไปยังครัวเรือน พี่น้องที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขอขอบคุณพลังจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ได้แบกจอบ เสียม มาร่วมซอแรง ในกิจกรรมครั้งนี้ ถือได้ว่าสร้างความก้าวหน้าให้กับพื้นที่นี้เป็นอย่างยิ่ง จึงมีความมุ่งมั่นอย่างที่สุดในการเป็นแหล่งเรียนรู้คู่ชุมชนอีกแห่งหนึ่งของอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ สร้างทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งตลอดไป”