วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายเสกสรรค์ สุขคุณ นายอำเภอดอนมดแดง พร้อมด้วย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นางอนุรักษ์ พัฒนาการอำเภอดอนมดแดง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ผู้นำชุมชน และประชาชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ ผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพืชสมุนไพรภายใต้ชื่อ “พายกระติ๊บเข่า ถือเสียม แบกบักจก ร่วมแฮง เอามื้อ ดำนา ปลูกไม้ 5 ระดับ” ณ แปลงพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality oflife : HLM) จำนวน 3 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ของนายวิญญู คุณรักษ์ บ้านเลขที่ 33 บ้านนาคำเจริญ หมู่ที่ 8 ตำบลคำไฮใหญ่ อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับกิจกรรมการ Kick off เอามื้อสามัคคี ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การห่มดิน ให้ดินเลี้ยงพืช การปลูกไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน ไม้หัว การปลูกหญ้าแฝก และพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ตะไคร้ และถอดบทเรียนจากกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ โดยนายวิญญู คุณรักษ์ เจ้าของแปลง ได้แสดงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า “รู้สึกโชคดีที่ได้รับโอกาสจากกรมการพัฒนาชุมชน ในการเข้าร่วมโครงการและจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ในครั้งนี้ ซึ่งเริ่มจากการเข้ารับการฝึกอบรมหลักกสิกรรมธรรมชาติ ทำให้ได้ความรู้ ได้เพื่อน และมีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยตนเองมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา นอกจากนั้น ยังได้วางแผนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบครบวงจร และเป็นศูนย์แบ่งปันให้กับชาวบ้านและบุคคลทั่วไป ได้แวะเวียนมาเยือน พร้อมมอบผลผลิตภายในสวนเพื่อแบ่งปันให้กับคนอื่น สร้างความมั่นคงทางอาหารและแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ให้กับบุคคลทั่วไป และสร้างภูมิรู้ให้กับผู้ที่สนใจด้วยความเต็มใจ”
โอกาสนี้ นายเสกสรรค์ สุขคุณ นายอำเภอดอนมดแดง ประธานในพิธีฯ ได้กล่าวในกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “การจัดกิจกรรม พายกระติ๊บเข่า ถือเสียม แบกบักจก ร่วมแฮง เอามื้อ ดำนา ปลูกไม้ 5 ระดับ” ในวันนี้ ถือเป็นการทำความดี ความรักสามัคคีของชาวไทยเราที่มาแต่ช้านาน นอกจากนั้นยังเป็นการร่วม ”สร้างปอดให้เมืองอุบล” จากการปลูกต้นไม้และสร้างธรรมชาติให้เกิดขึ้น เนื่องจากอำเภอดอนมดแดงนั้น อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุบลราชธานี เพียง 30 กิโลเมตร กิจกรรมในครั้งนี้ ต้องขอบคุณหัวหน้าส่วนราชการ พ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอดอนมดแดง ที่ได้เข้ามาร่วมในการดำเนินงาน “โคก หนอง นา พช.” เพื่อให้เป็นทางรอดในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤตหรือในภาวะปกติ ก็สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ ได้มาศึกษา รวมถึงการฝึกปฏิบัติ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดเติมเต็มซึ่งกันและกัน เป็นการเริ่มต้นในการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช.
ซึ่งจะเป็นทางรอดของพี่น้องประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และอีกประการหนึ่ง จะเป็นการสร้างทางเลือกให้พี่น้องประชาชนในการพึ่งตนเอง เรียนรู้ในการแบ่งปัน เรียนรู้การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน พยายามต่อยอดให้มีธนาคารพันธุ์ผัก ตลาดแบ่งปันผัก และการสร้างนวัตกรรม เช่น แปรรูปอาหารแปรรูปเป็นสินค้า OTOP เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สำหรับกิจกรรมเอามื้อสามัคคี นั้น เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นการน้อมนำแนวทางตามหลักทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระราชทานเพื่อคนไทย และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืนและยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของกรมการพัฒนาชุมชนอีกด้วย และสำหรับชุมชน ก็ต้องมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำนองเดียวกัน “การลงแขก” แบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่าย” ประธานในพิธีฯ กล่าว
ขณะที่ นางอนุรักษ์ ประทุมชาติ พัฒนาการอำเภอดอนมดแดง ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
1)เพื่อพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา พช.
2)เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่น และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
3)เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 การห่มดิน ให้ดินเลี้ยงพืช กิจกรรมที่ 2 ปลูกไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้สูง ไม้ใช้สอย ต้นสักทอง ต้นยาง ต้นประดู่ ชิงชัน, ไม้กลาง มะม่วง มะขาม มะพร้าว ขนุน, ไม้เตี้ย กระเพรา โหระพา พริก มะเขือ แมงลัก ฟ้าทะลายโจร, ไม้เรี่ยดิน สะระแหน่ ชะพู ผักแพว, ไม้หัว เผือก มัน ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย และกิจกรรมที่ 3 การลงแขกดำนา
พัฒนาการอำเภอดอนมดแดง ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “กรมการพัฒนชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน ในพื้นที่แปลงโดยปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น พืชสวนครัว อื่นๆ โดยเฉพาะ ขิง ตะไคร้ กะเพรา โหระพา บวบ รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา และพริก โดยเฉพาะการปลูกกระชาย ขิง ฟ้าทะลายโจร เพราะถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 และบรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัด หรือป้องกันการติดเชื้อได้
โดยพบว่าสารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อนอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้การรับรองแล้วว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย จะเห็นได้ว่าสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายจนทั่วโลกให้การยอมรับ จึงเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ให้เกิดความต่อเนื่อง ให้เป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคต่างๆ หลายโรค รวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และความรักห่วงใยพี่น้องประชาชน จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน” นางอนุรักษ์ กล่าวปิดท้าย
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.ดอนมดแดง.. ภาพข่าว/รายงาน