กรมชลฯ ระดมเครื่องจักรกลลงพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับมืออิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ปาบึก”

กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ เตรียมพร้อมรับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” พร้อมเร่งพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ให้มีพื้นที่รองรับฝนที่จะตกหนักถึงหนักมาก บางพื้นที่อาจมีปริมาณฝนถึง 300 มิลลิเมตรต่อวัน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ในเขตภาคใต้ทั้งหมด ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ ทิศทางและความรุนแรงของพายุโซนร้อน “ปาบึก” รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคใต้ตลอด 24 ชั่วโมง เบื้องต้นได้สั่งการให้นำเครื่องจักร-เครื่องมือไปติดตั้งในทุกพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถแทรกเตอร์ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบจากอิทธิพลของพายุปลาบึกให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งกรมชลประทาน มีจุดพักหลักเครื่องจักรกลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส อีกทั้งมีจุดพักรองเครื่องจักรกลอีก 13 แห่งครอบคลุมทั้งภาคใต้  ที่พร้อมจะเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่ได้ติดตั้งประจำในพื้นที่เกษตร เขตเศรษฐกิจ และเขตเมืองทุกจังหวัดอยู่แล้ว รวมทั้งพร้อมที่จะระดมเพิ่มเติมมาจากทั่วประเทศได้ทันที หากมีความจำเป็น

ดร.ทองเปลวฯกล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมชลประทาน ได้เร่งพร่องน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำต่างๆ ไว้ล่วงหน้าก่อนนี้แล้ว เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ โดยได้พิจารณาจากสถิติน้ำไหลลงอ่างฯในช่วงเกิดพายุและการคาดการณ์ปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา แล้วนำมาเปรียบเทียบ เพื่อกำหนดช่องว่างของอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสม ตามปริมาณน้ำที่คาดว่าจะไหลลงอ่าง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มน้ำจะล้นอ่างฯ 1 แห่ง คือ เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอ่างขนาดกลางอีก 15 แห่งในจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ให้พร่องน้ำในอ่างฯ และลำน้ำท้ายอ่างฯ เพื่อให้สามารถระบายน้ำจากฝนที่ตกลงมาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ จากการจัดทำแผนเผชิญเหตุล่วงหน้าพบว่า ใน 16 จังหวัดภาคใต้มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและ   ดินโคลนถล่ม 1,031 แห่ง ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังในเขตชลประทานมี 75 จุด ซึ่งก่อนหน้านี้มีอุปสรรคในการระบายน้ำได้แก่ มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เส้นทางระบายน้ำแคบ โดยได้มีการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำออกไปแล้ว รวมทั้งการขุดลอกลำน้ำ การขุดเจาะทำคลองลัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำครบทุกจุด นอกจากนี้ยัง ยังมีพื้นที่เตือนภัยน้ำหลากและดินถล่ม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำรับผิดชอบ 279 แห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 576 แห่ง สำหรับสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 45 แห่ง   เป็นของกรมทางหลวง 10 แห่ง การรถไฟแห่งประเทศไทย 1 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 34 แห่ง และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มเติมจากการสำรวจพื้นที่ 56 แห่ง ซึ่งกรมชลประทานได้แก้ปัญหาโดยนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่และเครื่องผลักดันน้ำไปเสริมเพื่อเร่งการระบายน้ำ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ประสานงานกับทางจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยทหาร ตามข้อสั่งการของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการติดตามสถานการณ์น้ำ การแจ้งเตือน การประชาสัมพันธ์ และการช่วยเหลือประชาชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักด้วยอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึกในระยะ 3 วันนี้

                                                                       ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ
กรมชลประทาน