วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายประกาย ผลสว่าง พัฒนาการอำเภอบัวลาย ร่วมกับนางหนูจีน ศรีนัมมัง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบัวลาย นำทีมชาวบ้านดำเนินการขยายผลขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการปลูกผักและพืชสมุนไพรไทย ให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน และให้การช่วยเหลือแก่ นายวุฒินันท์ วันนู โดยแบ่งปันพืชสมุนไพรไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายเพื่อต้านโควิด-19 ณ บ้านหนองหว้า หมู่ที่7 ต.หนองหว้า อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา
นายประกาย ผลสว่าง พัฒนาการอำเภอบัวลาย เปิดเผยว่า จากการที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขยายผลขับเคลื่อนการดำเนินงาน น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 (ต่อเนื่อง) โดยการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เช่น กล้วย มะละกอ แฝง บวบ มะเขือ พืชสวนครัว อื่น ๆ รวมถึงพืชสมุนไพร เช่น กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา และฟ้าทะลายโจร เนื่องจาก กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองแล้วว่า ฟ้าทะลายโจร มีสารแอนโดกราโฟไลด์ ที่สามารถรักษาโควิด-19ได้ โดยให้รับประทานฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลน์ วันละ 180 มิลลิกรรม เป็นเวลา 5 วัน จึงขอให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชสมุนไพรให้ครบทุกบ้าน เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาในด้านการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ และยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหาร ทำให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน ทั้งนี้พืชสมุนไพรไทย นับว่ามีสรรพคุณทางยาอย่างมากมาย จนทั่วโลกให้การยอมรับ ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่สามารถนำมาช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนรอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่นางหนูจีน ศรีนัมมัง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบัวลาย ผู้นำจิตอาสา ได้นำทีมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีการช่วยเหลือ แบ่งปันพืชสวนครัวและสมุนไพรไทย ให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ทำการกักตัวตามมาตราการ ซึ่งเป็นครอบครัวยากจน ก่อให้เกิดการแบ่งปัน แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของพี่น้องคนไทยในช่วงโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
หากทุกครัวเรือนมีการปลูกพืชสมุนไพรไทย จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พี่น้องประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ ในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นี้ ได้อย่างปลอดภัย และต่อเนื่องจนเป็นนิสัยหรือวัฒนธรรมการปลูกพืชผักสวนครัวและสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างยั่งยืน ต่อไป