เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ และรักษาการผู้อานวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “สานงาน เสริมพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่ภาคใต้แห่งความสุขในวิถี New Normal” มีวัตถุประสงค์เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสานพลังของภาคีเครือข่ายสุขภาวะในรูปแบบสานงาน เสริมพลัง ข้ามประเด็น ก้าวข้ามเครือข่าย ในการทำงานในพื้นที่และในกระบวนการนโยบายสาธารณะ นำไปสู่เกิดกระบวนการสร้างและขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางสุขภาวะ 4 ด้าน คือ
1.ความมั่นคงทางอาหาร
2.ความมั่นคงทางสุขภาพ
3.ความมั่นคงทางมนุษย์
4.ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งภาคีเครือข่ายได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย ผ่านระบบ Zoom ออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมประชุมกว่า 1,500 คน
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับผู้บริหารองค์กร สสส. ในการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งนี้ เน้นสร้างรูปธรรมขับเคลื่อนข้อเสนอให้เกิดการนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และใช้กลไกที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดการสานพลัง ก้าวข้ามขีดจำกัด ยกระดับสุขภาวะคนใต้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเสนอให้ สสส. มีบทบาทหนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่าย อาทิ กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถ นอกจากนี้ ควรเป็นกลไกกลางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสุขภาพในระดับจังหวัด โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด ดำเนินการด้านการกระจายอำนาจด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและบริบทของพื้นที่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะของภาคใต้ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงนโยบาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. 10 ปี ซึ่งมียุทธศาสตร์เฉพาะเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพภาคีเครือข่าย ขณะที่แผน 3 ปี การทำงานสุขภาพของ สสส. จะเน้นให้ความสำคัญต่อการดูแลกลุ่มพื้นที่เฉพาะอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการทำงาน “ขยายโอกาสสร้างความยั่งยืน” โดยร่วมกับภาคีเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมแสวงหาการทำงานความร่วมมือ และผนึกกำลังแหล่งทุนในระดับพื้นที่ นำมาขยายโอกาสการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดการกระจายอย่างกว้างขวาง และครอบคลุมโจทย์ ปัญหาสุขภาวะของพื้นที่ โดยมีกลไกการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการที่มุ่งผลลัพธ์
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. มีกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบผ่าน “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” (ThaiHealth Academy) ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ มีภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ
1.งานพัฒนาหลักสูตร เช่น พัฒนาวิทยาการหลักสูตรต่างๆ จัดกิจกรรมการอบรม ประเมินและติดตามผล และพัฒนารูปแบบและช่องทางการเรียนรู้ เช่น อี-เลิร์นนิ่ง
2.งานพัฒนาเครือข่ายและชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น จัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามประเด็น/พื้นที่ สร้างแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อต่อยอดการปฏิบัติงานจริง พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานสถาบัน และบริหารจัดการสมาชิก/ลูกค้าสัมพันธ์
3.งานจัดการความรู้และวิจัย เช่น เป็นหน่วยจัดการองค์ความรู้และงานวิจัย ให้บริการทางวิชาการ เผยแพร่องค์ความรู้หรือแนวทางปฏิบัติที่ดี ยกระดับมาตรฐานการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านการสำรวจ วิจัย หรือเทียบเคียง กับหน่วยงานหน่วยงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศไทยและแนวทางปฏิบัติสากล