ยกระดับ“ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด” โฉมใหม่ เพิ่มนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเลิกสารเสพติดทุกชนิด เผยงดเหล้าเข้าพรรษา มีผู้ร่วม ลด ละ เลิก 12.14 ล้านคน ตัดวงจรระบาดช่วยชาติ ไม่เสี่ยงติดโควิด-19
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จัดเสวนาออนไลน์ “เลิกเหล้าเข้าพรรษาอย่างไร ให้ปลอดภัยในสถานการณ์โควิค -19” พร้อมการยกระดับ “ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด สายด่วน1413” โฉมใหม่ จัดนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการเลิกสารเสพติดทุกชนิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ประชาชน ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยการลด ละ เลิกอบายมุขในวันเข้าพรรษา
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า วันเข้าพรรษาของไทยปีนี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาต้องใช้การสื่อสารรูปแบบออนไลน์เป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการเดินทาง และเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อทุกชนิด และยังถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ที่ยังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรเริ่มต้น ลด ละ เลิก เพราะผู้ติดสุรา มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อในปอดถึง 2.9 เท่า ส่งผลให้ติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้นด้วย และควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนฉีดวัคซีนด้วย รวมถึง ผู้ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วฉีดวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ดื่ม เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเข้าไปรบกวนการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายในร่างกายหลังจากการฉีดวัคซีน
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส.เริ่มรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นเวลา 18 ปี ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายงดเหล้ายังคงยึดเจตนารมณ์เดิมคือ ส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดทุกชนิด ผ่านการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ เช่น โครงการ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ที่ปัจจุบันชื่อมาเป็น “ห่วงใยใครไม่ให้เหล้า” และอีกหนึ่งภารกิจที่ สสส. สนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรม คือการสนับสนุนให้เกิดศูนย์ปรึกษาปัญหาการดื่มสุรา สายด่วน 1413 เพื่อให้บริการปรึกษาการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปีนี้ได้ยกระดับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยการเพิ่มนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเรื่องการเลิกสารเสพติดทุกชนิด เพราะเชื่อว่าทุกคนจะมีสุขภาวะที่ดีได้จะต้องเริ่มจากการใช้ชีวิตที่ปราศจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งนี้ ผลประเมินผลการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2563” โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) มีผู้ร่วมงด ลด ละ เลิกดื่มแอลกอฮอล์รวม 12.14 ล้านคน โดยผลของการ ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันเข้าพรรษา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่สุขภาพร่างกายดีขึ้น มีเงินเก็บ และสภาพจิตใจดีขึ้น ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา สสส. มุ่งมั่นให้คนไทยร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาให้ได้ 50-60% ปัจจุบันมีชุมชนสู้เหล้าทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง และเกิดชมรมคนเลิกเหล้า “คนหัวใจเพชร” (งดเหล้า 3 ปีขึ้นไป) 142 แห่ง ซึ่งเป้าหมายในระยะยาวที่ สสส. ต้องการคือ ทำให้ชุมชนดูแลสุขภาพและต่อยอดพัฒนาเป็นชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด กล่าวว่า ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (Alcohol and Drugs Helpline Centre) สายด่วน 1413 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนมีคนโทรเข้ามาขอรับฟังคำปรึกษาเพื่อเลิกเหล้าในช่วงนี้มากถึง 500 – 1,000 คนขึ้นไป โดยปีนี้ สายด่วน 1413 ได้ยกระดับให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มนักจิตวิทยาคอยให้คำแนะนำ ประเมินความเสี่ยงกับประชาชนที่ต้องการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้คนกลุ่มนี้กล้าที่จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายกับชีวิต โดยเพราะในกลุ่มนักดื่มที่ดื่มติดต่อกันทุกวันเป็นเวลาหลายปีอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคติดสุรา การหยุดดื่มกะทันหันในวันเข้าพรรษาอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการมือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก มีไข้ กระสับกระส่าย และในบางรายอาจมีอาการชักเกร็งกระตุก ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า “อาการถอนสุรา” ที่ผู้ติดสุราบางคนไม่รู้วิธีรับมือกับภาวะที่ต้องเผชิญ จึงอยากเชิญชวนและแนะนำว่า ใครที่ต้องการงดเหล้าและสารเสพติดในวันเข้าพรรษาหรืองดตลอดชีวิต สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1413 “เลิกเหล้า เราช่วยได้” เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. ส่วนกรณีผู้ที่ติดสุราและกำลังจะไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรจะขอรับคำปรึกษาจากทางสายด่วน1413 ด้วยเช่นกัน
นายณพสิน แสงสุวรรณ หรือ หนุ่ม กะลา กล่าวว่า ตัวเองเป็นคนหนึ่งที่ดื่มเหล้าหนักมาก ตั้งแต่เด็กๆ แต่ติดจริงจังในช่วงการทำอัลบั้มที่ 3 ต้นเหตุจากการทัวร์คอนเสิร์ต ช่วงนั้นผับปิดตี 4 ตี 5 รู้สึกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้สนุกมากขึ้น จึงดื่มทั้งก่อนและหลังขึ้นแสดงคอนเสิร์ต หลังจบก็ดื่มต่อถึงเช้าต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ช่วงหลังเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งไอเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ดื่มไม่รู้สึกตัว และจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ตื่นมาพบว่าร่างกายบาดเจ็บ และช่วงหลังที่ดื่มหนักพบว่าการดื่มทำให้เครียดมากขึ้น กลายเป็นคนเก็บตัว เกิดภาวะซึมเศร้า จนต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอยู่หลายเดือน จากนั้นจึงตัดสินใจเลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา เริ่มจากหยุดดื่มน้อยไปมาก จาการตั้งใจหยุดดื่ม 3 วัน เพิ่มเป็น 7 วัน 10 วัน และ 1 เดือน ใช้เวลารวมในการเลิกเหล้าทั้งหมด 1 ปี จนตอนนี้เลิกได้ 11 ปี แล้ว โดยเชื่อว่าคนที่ติดเหล้าลึกๆ แล้วอยากเลิกเหล้าแต่ยังมีความกังวล ดังนั้นในช่วงเข้าพรรษาอยากเชิญชวนให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเลิกเหล้า ซึ่งสายด่วน 1413 เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เชื่อว่าจะทำให้ความตั้งใจของทุกคนเป็นจริงได้
นางทองมาก อุตอามาตย์ กล่าวว่า ตนเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอกอฮอล์ ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยเฉพาะเวลาไปเจอเพื่อนๆ จะดื่มหนัก จนทำงานไม่ไหว พอมีครอบครัวก็ค่อยๆ ถอยออกมา อีกทั้งยังเข้าร่วมการอบรมร่วมกับสายด่วน 1413 หลังอบรมแล้วไม่นานก็สามารถเลิกได้ สามารถรับประทานอาหารได้ ร่างกายแข้งแรง และสบายใจมาก คนในครอบครัวก็สบายใจ ที่เราเลิกได้ และมีสุขภาพดีขึ้น แต่พอชวนข้างบ้านให้เลิกเหล้าด้วยเขายังไม่สามารถเลิกได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเข้าพรรษานี้จะพยายามชวนเพื่อนบ้านให้เลิกเหล้าอีกครั้ง.
//////////