ประธาน กสม. ส่งหนังสือถึง “นายกฯ-ประธาน สนช.” หนุนปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย รวม ๑๐ ประเด็น

วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา มีสาระสำคัญคือการสนับสนุนให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ผลักดันให้มี “กฎหมายกลาง” ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญาในความผิดอันยอมความได้และความผิดลหุโทษซึ่งเป็นความผิดที่ไม่กระทบต่อส่วนรวม อันจะทำให้การไกล่เกลี่ยมีหลักการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ตลอดทั้งมีข้อเสนอแนะ ต่อเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นรายมาตรา รวมทั้งสิ้น ๑๐ ประเด็น

นายวัส กล่าวว่า ต่อมาวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการในวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. …. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี กสม. ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธาน สนช. อีกครั้งเพื่อขอให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. …. ควรพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาใน ๑๐ ประเด็นที่ กสม. เคยเสนอก่อนหน้านี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของปัจเจกบุคคลให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ภายใต้หลักการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่มุ่งนำมาใช้เสริมกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักให้คล่องตัว โดยพิจารณาผู้เสียหายที่แท้จริงและยังคงรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคคลและเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมด้วย

ประธาน กสม. ยกตัวอย่างถึงข้อเสนอแนะในร่างมาตรา ๓๓ ข้อพิพาททางอาญาที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ตาม พ.ร.บ. นี้ควรกำหนดให้ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับการทารุณกรรมต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นข้อพิพาททางอาญาที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ตาม พ.ร.บ. นี้ เนื่องจากผู้เสียหายมีสิทธิที่จะร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมและมีกลไกการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความในศาลนั้น และมีมาตรการพิเศษอื่น ๆ ซึ่งมีความเหมาะสมกว่าการใช้กระบวนการทางอาญา เพราะสามารถกำหนดรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนที่มีลักษณะแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป โดยให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ ประกอบการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยให้รัฐเข้ามาดูแล ให้ความคุ้มครองและมีมาตรการพิเศษจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมได้เป็นอย่างดี

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution : ADR) ที่นานาชาตินำมาใช้ยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผลของการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยทำให้คู่พิพาทได้รับความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย การไกล่เกลี่ยจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข” นายวัส กล่าว

ประธาน กสม. กล่าวด้วยว่า “หลักการไกล่เกลี่ย” เป็นอีกมาตรการสำคัญของการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางตามหลักการปารีส ซึ่งในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ได้ให้ความสำคัญและกำหนดหลักการนี้ไว้ในกฎหมายว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ กสม. มีอำนาจไกล่เกลี่ยในมาตรา ๒๗ แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ไม่ได้มีการบัญญัติหลักการดังกล่าวเอาไว้เลย ทั้ง ๆ ที่ กสม.ชุดที่ ๓ ได้มีข้อเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้องให้บัญญัติหลักการไกล่เกลี่ยไว้ใน พ.ร.ป.กสม. แต่ไม่ได้รับ
การตอบสนองใด ๆ

 

เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๒ มกราคม ๒๕๖๒