วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 08.00 น. ณ แปลงโคก หนอง นา (บวร) โมเดล บ้านโคกเจริญ หมู่ที่ 31 ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเดชอุดม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเอาแฮงสามัคคี อาณาจักร โคก หนอง นา (บวร) โมเดล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ณ แปลงโคก หนอง นา (บวร) โมเดล บ้านโคกเจริญ หมู่ที่ 31 ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมี พันเอกสิทธิชัย เสาวคนธ์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายพันมหา ทองบ่อ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี พ.ต.ท.ยุทธไชย ภาคพาไชย ผบ.กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 225 นายวิริยะ เสาทอง พัฒนาการอำเภอเดชอุดม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมฯ โดยพร้อมเพรียงกัน นอกจากนั้น ยังได้รับความเมตตาจากพระครูสุขุม วรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน พระครูเวตวรรวรกิจ เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม และพระครูสุภัทรปุณณธาดา เจ้าคณะตำบลห่องเตย และคณะสงฆ์ตำบลนาเจริญ เข้าร่วมเขียนตำราลงบนแผ่นดิน ตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ในครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้เปิดเผยว่า “จังหวัดอุบลราชธานี ได้พร้อมใจกันด้วยความสมัครสมานสามัคคี จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และจิตอาสาพัฒนาเอาแฮงสามัคคี อาณาจักร โคก หนอง นา (บวร)โมเดล ณ แปลงโคก หนอง นา(บวร) โมเดล บ้านโคกเจริญ หมู่ที่ 31 ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี แห่งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขร่มเย็น รวมทั้งสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ดังพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และจิตอาสาพัฒนาเอาแฮงสามัคคี อาณาจักร โคก หนอง นา (บวร)โมเดล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้โครงการจิตอาสาพระราชทาน 904
เพื่อสร้างสำนึกด้านจิตสาธารณะ และส่งเสริมด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม และภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การบูรณาการร่วมกันขององค์กรหลักในชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ (บวร) เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ผมขอชื่นชมและขอบคุณทุกท่าน ที่ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และจิตอาสาพัฒนาเอาแฮงสามัคคี อาณาจักร โคก หนอง นา (บวร)โมเดล ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่ไปเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ของอำเภอเดชอุดม โดยกำหนดให้มีกิจกรรมเอาแฮงสามัคคี ในพื้นที่ต้นแบบอาณาจักร โคก หนอง นา (บวร)โมเดล นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ประชาชนและภาคส่วนราชการ เข้าร่วมในกิจกรรมปลูกพืชเลี้ยงดิน การห่มดิน ปลูกหญ้าแฝกอนุรักษ์ดิน อันเป็นแสดงออกถึงความจงรักภักดี การน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและความร่วมมือ ร่วมใจกันทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน”
ขณะที่ พระครูเวตวรรวรกิจ เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม ได้เมตตาและกล่าวสัมโมทนียกถา ถึงการขับเคลื่อน “โคก หนอง นา บวร โมเดล” ว่า “พื้นที่แห่งนี้ เป็นมรดกของครอบครัว จำนวน 5 ไร่ 2 งาน เพื่อทำเป็นโคก หนอง นา มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางอาหารผลผลิตที่เกิดขึ้นจะได้แบ่งปันสู่เด็กนักเรียนโรงเรียนเวตวันวิทยาราม สู่ผู้ยากจน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน และผู้ประสบภัยวิบัติต่างๆ รวมทั้งให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ โดยตนเอง คอบครัว ญาติ คนในชุมชน และภาคีเครือข่าย มีศีล สมาธิ ปัญญา มีความอดทน มีความเพียร มีน้ำใจ มีความกตัญญู อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ เมื่อปี 2563 ได้ประสานพระครูสุขุมวรรโณภาส ช่วยเข้ามาดูพื้นที่ รวมทั้งให้ช่วยออกแบบ จัดหาทีมขุด ควบคุมการขุด และจัดกิจกรรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จนกระทั่งในปี 2564 พระครูสุขุมวรรโณภาส ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ อีกครั้ง
พร้อมทั้งได้สอบถามความต้องการของ เจ้าคณะอำเภอ และญาติผู้ดูแลแล้วจึงได้ขอความร่วมมือ พันเอก สิทธิชัย เสาวคนธ์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในอำเภอเดชอุดม ลงพื้นที่ร่วมกันสำรวจพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งท่านก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้บูรณาการร่วมกัน เพื่อวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็น โคก หนอง นา หลังจากที่ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เป็นเข้าใจตรงกันทุกฝ่ายแล้วจึงได้กำหนดวัน Kick off เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีพันเอก สิทธิชัย เสาวคนธ์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรเข้าดำเนินการ จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 โดยไม่คิดค่าเช่าเครื่องจักรกลแต่อย่างใด ซึ่งพระครูเวตวรรวรกิจ และคณะญาติ ได้สนับสนุนอาหารน้ำดื่ม ส่วนพระครูสุขุมวรรโณภาส นอกจากมาช่วยควบคุม แนะนำการขุดให้สอดคล้องกับบริบทภูมิสังคม ยังช่วยจัดหาสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงให้แก่คณะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานแต่ละวัน ในระหว่างการดำเนินงาน พระครูเวตวรรวรกิจ เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม และพระครูสุภัทรปุณณธาดา เจ้าคณะตำบลห่องเตย และคณะสงฆ์ตำบลนาเจริญ ได้มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมทั้งได้หารือถึงการบริหารจัดการเมื่อโครงสร้างโคก หนอง นา เสร็จแล้ว การดำเนินโคก หนอง นา บวร โมเดล แห่งนี้ พระครูสุขุมวรรโณภาส ซึ่งได้สื่อสารงานบุญถึงท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มาตั้งแต่แรกเริ่ม ท่านอธิบดีอยากให้มีส่วนราชการ โดยเฉพาะพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาการอำเภอเดชอุดม นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ร่วมกันสร้างสรรค์ให้เป็นแปลงต้นแบบของจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ประสานให้พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาการอำเภอเดชอุดม และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เข้าประสานงาน ประสานบุญ กับพระครูเวตวรรวรกิจ เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม รวมถึงนำนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มาพัฒนาพื้นที่ เตรียมหลุม เตรียมฟางห่มดิน เตรียมน้ำหมัก และนำกล้าไม้หรือป่าสามอย่าง ปุ๋ยคอก จำนวน 100 กระสอบ ฟางก้อน จำนวน 500 ก้อน
นอกจากนั้น เทศบาลเมืองเดชอุดม คณะครูโรงเรียนเวตวันวิทยาราม และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ได้ร่วมวางแผนการจัดกิจกรรมให้เป็นไปโดยความเป็นระเบียบเรียบร้อยดีงาม อร่ามบุญ โดยพระครูสุขุมวรรโณภาส ได้นำหน่อกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 มาปลูกในแปลงโคก หนอง นา จำนวน 500 หน่อ นายพันมหา ทองบ่อ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ นำหญ้าแฝก ครั้งที่หนึ่ง จำนวน 40,000 ต้น และครั้งที่สอง อีก 10,000 ต้น รวม 50,000 ต้น เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานในวันนี้ ได้ขุดหลุม ฟางห่มดิน ทำน้ำหมักชีวภาพ นำกล้าไม้หรือป่าสามอย่าง คือป่าพอกิน ป่าพอใช้ ป่าพออยู่ สู่โคก หนอง นา (บวร) โมเดล และนำปุ๋ยคอก จำนวน 100 กระสอบ บำรุงดิน เลื้องดิน เพื่อให้ดินไปเลี้ยงพืช และนำฟางก้อน จำนวน 500 ก้อน มาห่มดิน ทั้งนี้ เทศบาลเมืองเดชอุดม นำเจ้าหน้าที่ตั้งเต็นท์จัดเวที คณะครูโรงเรียนเวตวันวิทยาราม มาประดับตกแต่งปะรำพิธี และ ตชด.225 นำรถมาขนฟางก้อนจัดวางเป็นระยะ ส่วนพระครูสุภัทรปุณณธาดา เจ้าคณะตำบลห่องเตย คณะสงฆ์ตำบลนาเจริญ และชาวบ้าน จัดหาต้นไม้ พืช ผัก สวนครัว ขิง ข่า ตะไคร้ สมุนไพร และเมล็ดพันธุ์ ให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ (บวร) ได้ร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขันเช่นนี้ จึงมีความเห็นร่วมกันให้ใช้ชื่อโคก หนอง นา แห่งนี้ว่า “โคก หนอง นา (บวร) โมเดล” โดยจะมีกิจกรรมพัฒนาแปลง พัฒนาคน ร่วมกันเดือนละครั้ง และคณะสงฆ์อำเภอเดชอุดม มีพระครูเวตวรรวรกิจ เจ้าคณะอำเภอเดชอุดม พระครูสุขุมวรรโณภาส พระครูสุภัทรปุณณธาดา เจ้าคณะตำบลห่องเตย และคณะจากอำเภอเดชอุดม จะได้ร่วมกันลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ ให้กำลังใจ เจ้าของแปลงครัวเรือนในพื้นที่อำเภอเดชอุดม ในโอกาสต่อไป”
ด้าน พระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กรมการการพัฒนาชุมชน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน “โคก หนอง นา (บวร) โมเดล” แห่งนี้ ได้เมตตาให้ข้อมูลว่า “ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้งาน(บวร) สู่ความสำเร็จต้องทุนอาศัยทุนที่เรามี สู่วิถี โคก หนอง นา
1)ทุนทางธรรมชาติ อาศัย ดิน น้ำ ป่า ที่เรามี มาบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2)ทุนทางสังคม เรามีพระ ครู คลัง ช่าง หมอ พ่อแม่ โดยเฉพาะเรามี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ สมเด็จที่ทำโคก หนอง นา มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เมตตาเป็นขวัญกำลังใจให้พระสงฆ์ทำโคก หนอง นา สนองงานด้านสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม
3)ทุนทางปัญญา ต้องแสวงองค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หลักกสิกรรมธรรมชาติ ศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
4)ทุนทางทรัพย์สิน ได้จากตนเอง ครอบครัว ญาติ และจากการบริจาค พันธ์พืช ผัก ไม้ผล เมล็ดพันธ์ต่างๆ ของชุมชน ทุนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม
5)ทุนทางเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่าย(บวร) บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ มาร่วมด้วย ช่วยกัน ร่วมบุญ ร่วมงาน ร่วมประสาน ทำงานแบบบูรณาการ ทุนเหล่านี้ช่วยผลักดันขับเคลื่อนงานโคก หนอง นา สู่ความสำเร็จ”
สำหรับ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเดือนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564 และขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการมีจิตสาธารณะ และส่งเสริมด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม เป็นการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของสังคมไทยให้เกิดความเข็งแรงและยั่งยืน โดยขับเคลื่อนงานจากองค์กรหลักในชุมชน คือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ หรือ หลัก “บวร” เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนของกิจกรรมฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.เดชอุดม ภาพข่าว/รายงาน