พช.อุบลฯ เดินเครื่องพัฒนาศูนย์สารภีท่าช้าง เป็นแหล่งเรียนรู้การประกอบอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมหนุนผลผลิตจาก “โคก หนอง นา พช.” สร้างแบรนด์สินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และนางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ ลงพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน และศูนย์ฝึกอาชีพตามแนวทางพระราชดำริและโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ.-พช.)

ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ตั้งอยู่ที่ บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งเมื่อปี 2518 โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับบริจาคที่ดินทั้งหมด 50 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารฝึกอบรมและมีเจ้าหน้าที่ดูแล ตั้งอยู่ในเขตบ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อปี 2556 สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสว่างวีระวงศ์ และได้มอบหมายให้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ แผนผังการใช้ศูนย์สารภี และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและระเบียบข้อบังคับของศูนย์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งในปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชน มีแนวทางในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน ให้เป็นต้นแบบบโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์พัฒนาศูนย์ฯ ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมการพัฒนาชุมชนได้มีนโยบายให้ศูนย์ฯ ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนอื่น

โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ดำเนินการสำรวจฐานเรียนรู้ที่มีอยู่ในศูนย์เรียนรู้สารภีท่าช้าง และการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS (Geograghic Information System) โดยการปักหมุดตำแหน่งฐานเรียนรู้จำนวน 20 ฐาน ประกอบด้วยฐานเรียนรู้เดิม 10 ฐาน ได้แก่ ฐานเรียนรู้เพาะเห็ดนางฟ้า ปลูกผักสวนครัว พุทราสามรส นวดแผนไทย การปลูกข้าว เลี้ยงปลาหมอไทย เลี้ยงไก่ ทอเสื่อ ปลูกดาวเรือง ปลูกแก้วมังกร และฐานเรียนรู้โคกหนองนาที่มีการอบรมในศูนย์ จำนวน 10 ฐาน ได้แก่ ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี คนเอาถ่าน คนมีน้ำยา คนมีไฟ คนรักษ์สุขภาพ คนหัวเห็ด คนรักษ์แม่โพสพ คนรักษ์น้ำ คนรักษ์ป่า คนรักษ์ดิน ทั้งนี้ ยังได้สำรวจพื้นที่แปลงสาธิตอื่นๆที่ดำเนินการในพื้นที่เพิ่มเติม ได้ แก่แปลงมัลเบอรี่ แปลงผักกูด โรงเลี้ยงแพะ สวนกล้วย ธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก แปลงเกษตรพันธุกรรมพืชสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น

โอกาสนี้ นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบ ได้กล่าวต้อนรับคณะฯ จากกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมให้ข้อมูลการศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) ว่าปัจจุบันประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึงเปิดเผยว่าภายในอาคารศูนย์ฯ ไม่สามารถเปิดเครื่องปรับอากาศได้เนื่องจากตัวอาคารไม่มีฝ้ากั้น ในส่วนของกิจกรรมที่น่าสนใจนั้น ทางศูนย์ฯ ได้มีการทำโครงการ 1 พัฒนากร 1 คนงาน เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงปลาในบ่อด้วย

ขณะที่ นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะฯ ได้ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการการเรียนรู้ การฝึกอบรมอาชีพให้กับชุมชน พร้อมทั้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่ส่งเสริมสนับสนุนประชาชนด้านการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือแบรนด์ผลผลิตที่เกิดจาก “โคก หนอง นา พช.” และสินค้า OTOP ในชุมชนท้องถิ่นต่อไป

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และงานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี ภาพข่าว/รายงาน