วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายไทย สีสิทธิ์ พัฒนาการอำเภอน้ำขุ่น พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่ตำบลไพบูลย์ อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอน้ำขุ่น มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แยกเป็นงบพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ 5 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 5 รวม 10 แปลง งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ 86 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 201 แปลง รวม 287 แปลง เเละ CLM พื้นที่ 15 ไร่ 3 แปลง และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จำนวน 32 คน
สำหรับการลงพื้นที่ของพัฒนาการอำเภอน้ำขุ่นในครั้งนี้ ได้ทำการปั่นจักรยานเนื่องจากสภาพถนนที่เป็นอุปสรรคในช่วงฤดฝน เพื่อติดตามและตรวจเยี่ยมการปรับพื้นที่แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) แปลง นางสาวกัลยาณิน แหวนเพชร อยู่บ้านเลขที่ 106 หมู่ที่ 6 ตำบลไพบูลย์ อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับการสนับสนุนการขุดปรับพื้นที่จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 (นพค.56 อุบลราชธานี) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ล้อมรั้ว และทำปุ๋ยหมัก ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนรักป่า ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ เเละฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ โดยมีนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.)ในพื้นที่ ร่วมกันกับเจ้าของแปลงในการวางแผนการขับเคลื่อนและติดตามสนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
โอกาสนี้ นางสาวกัลยาณิน เจ้าของแปลง CLM ได้เปิดเผยว่า “พื้นที่ทำกินแห่งนี้ถือเป็นหัวใจในการดำรงชีวิตของตน ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ใช้ประโยชน์คือทำนาปลูกข้าว และทำสวน ซึ่งในการทำเกษตรนั้น ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล บางปีฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำทำการเกษตร พอทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอน้ำขุ่น และผู้นำหมู่บ้าน จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งในอนาคตหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ และพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ในครั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปี และตลอดไป ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือนและเข้าถึงหัวใจของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจน กรมการพัฒนาชุมชน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และรัฐบาล ที่นำงบประมาณมาช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชน ในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ในปัจจุบัน”
ขณะที่ นายไทย สีสิทธิ์ พัฒนาการอำเภอน้ำขุ่น ได้พบปะและมอบแนวทางในการดำเนินงานกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และเจ้าของแปลงว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” นี้ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ สำหรับการมาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ ถือว่ามาเป็นกำลังใจและรับฟังความรู้สึกจากท่าน ขอฝากทั้งเจ้าของแปลง และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ได้ผ่านการอบรมและได้รับความรู้ภาคทฤษฎีมาแล้ว ดังนั้น ต้องนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ ในการสร้างฐานเรียนรู้ทั้ง 9 ฐาน เพื่อให้ฐานเรียนรู้เหล่านั้น เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในการเรียนรู้ทักษะและฝึกปฏิบัติตามที่ตนเองสนใจ ขอให้มุ่งมั่นทำต่อไปและทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิต โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หากมีเหตุขัดข้องหรือข้อสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกันให้โครงการฯ สามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ตามแนวนโยบายของทางรัฐบาล ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านมีความสุขและความเจริญสืบไป” นายไทย กล่าวด้วยความมุ่งมั่น
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และ สพอ.น้ำขุ่น ภาพข่าว/รายงาน