วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางสาวปาณิสรา ใจเย็น พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร พร้อมด้วย ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ผู้อำนวยการกองช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนและตรวจรับงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ไทร และตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับการลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้ คณะฯ ได้ติดตามการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ครัวเรือนตัวอย่างพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Househole Lab Model for quality oflife : HLM) ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ประกอบด้วย 1)แปลงนายสริด คำหงษ์ษา บ้านร่องคันแยง หมู่ที่ 6 ตำบลสำโรง ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ตามแบบกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 2:3 ประเภทดินร่วนปนทราย 2)แปลงนายสัมฤทธิ์ สิงห์โต บ้านร่องคันแยง หมู่ที่ 6 ตำบลโพธิ์ไทร ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ แบบกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 1:2 ประเภทดินร่วนปนทราย 3)แปลงนางรำไพ ประดับสิน บ้านเลาะ หมู่ที่ 4 ตำบลโพธิ์ไทร ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ แบบกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 1:1 ประเภทดินร่วนปนทราย 4)แปลงนายอำนวย จันทัน บ้านคำมณี หมู่ที่ 7 ตำบลโพธิ์ไทร ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ แบบกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 1:3 ประเภทดินเหนียว 5)แปลงนายสมปอง ใจมานะ บ้านโคกศิลา หมูที่ 13 ตำบลโพธิ์ไทร ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ แบบกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 2:3 ประเภทดินเหนียว
โดยคณะตรวจติดตามได้พบปะเจ้าของแปลง และให้คำแนะนำในการวางแผนเพื่อจัดกิจกรรมขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และจัดกิจกรรมเครือข่ายการเรียนรู้แก่ชุมชนผ่านการเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้ว พร้อมได้กำชับเจ้าของแปลงซึ่งอยู่ในระหว่างการขุดปรับพื้นที่ ให้ประสานและสนับสนุนการดำเนินงานกับนายช่างผู้ควบคุมงาน ให้เป็นไปตามแนวทางกรมการพัฒนาชุมชนกำหนด อาทิเช่น ระยะร่นจากเขตแนวดิน จุดทิ้งดิน การขุดปรับพื้นที่เฉพาะในเขตบริเวณซึ่งเข้าร่วมโครงเท่านั้น นอกจากนั้น ยังได้ให้คำแนะนำและห่วงใยพื้นที่แปลง ถึงแม้การพัฒนาพื้นที่จะดำเนินตามแบบโคกหนองนา และแนวทางมาตฐานกรมฯ แต่เนื่องจากฝนที่ตกอย่างหนักในช่วงนี้ จึงขอให้ครัวเรือนต้นแบบได้นำพืชมาปลูกบริเวณคันดินและดำเนินการคลุมดิน เพื่อให้คันดินยึดกันได้ดีขึ้น พร้อมได้แนะนำให้จัดทำแผนและวางแผนการจัดกิจกรรมเครือข่ายเอามื้อสามัคคีต่อไป
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอโพธิ์ไทร มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แยกเป็นงบพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ 1 ไร่ 20 แปลง และพื้นที่ 3 ไร่ 5 รวม 25 แปลง งบเงินกู้รัฐบาล แปลง HLM พื้นที่ 1 ไร่ 8 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 38 แปลง รวม 46 แปลง เเละ CLM พื้นที่ 15 ไร่ 3 แปลง และมีนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 36 คน และได้รับงบประมาณโครงการฯ กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ รวม 4,463,400 บาท
โอกาสนี้ พัฒนาการอำเภอโพธิ์ไทร ได้พบปะกับ เจ้าของแปลงครัวเรือนพัฒนา นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และคณะทำงานที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการฯ ตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชนกำหนด พร้อมชื่นชมแปลงที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยว่า “ถือว่าทุกท่านโชคดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากโครงการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสาน รักษา และต่อยอด สู่รัชกาลที่ 10 การยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่ หากเจ้าของแปลงหรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) มีเหตุขัดข้องหรือข้อสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน อันจะทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยเร็ว มีแปลงตัวอย่างที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ สามารถการพึ่งตนเองให้รู้จักสร้างทางรอดในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป”
ขณะที่เจ้าของแปลงฯ ได้เปิดเผยว่า “ดีใจและมีความสุขมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ขอขอบคุณภาครัฐที่มาช่วยชีวิตให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เพราะพื้นที่ทำกิน ถือเป็นชีวิตจิตใจในการเลี้ยงชีพ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ในการทำเกษตรนั้น ต้องพึ่งน้ำฝนตามฤดูกาล บางปีฝนทิ้งช่วงไม่มีน้ำทำการเกษตร จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งในอนาคตจะมีการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 5 ปี ต่อจากนี้ เช่น คันทองคำ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อให้เป็นครัวเรือนตัวอย่าง และศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือน ตลอดจนรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชน ในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ในขณะนี้”
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ไทร ภาพข่าว/รายงาน