“อนุทิน” เปิดไอซียูสนามมณฑลทหารบกที่ 11 แห่งแรก ยกระดับเป็นรพ.สนามระดับสูง รองรับโควิด

Featured Video Play Icon

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิด “ไอซียูสนาม” แห่งแรก ที่โรงพยาบาลสนามกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 11 รองรับผู้ป่วยโควิด 19 พื้นที่ กทม.อาการสีเหลือง 120 เตียง และสีแดง 58 เตียง ติดตั้งระบบต่างๆ เหมือนโรงพยาบาลบุษราคัม มีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองดูแล เริ่มให้บริการพรุ่งนี้เป็นต้นไป

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลสนามกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 11 เขตหลักสี่ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลตรี ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 และนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมพิธีเปิดโรงพยาบาลสนามกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 11 รองรับผู้ป่วยโควิด 19 สีเหลืองและสีแดงในพื้นที่ กทม.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเตียงรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น จึงมีการขยายจำนวนเตียงเพื่อรองรับ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับ กทม. และกองทัพบก ยกระดับโรงพยาบาลสนามกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งจากเดิมรับผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเขียวจำนวน 192 เตียง ให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับสูง รองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดงได้ โดยเปิดเตียงไอซียูสนามเพิ่มในรูปแบบของอาคารสำเร็จรูป 2 ชั้น จำนวน 4 อาคาร แบ่งเป็นเตียงผู้ป่วยสีแดง 58 เตียง ผู้ป่วยสีเหลือง 120 เตียง รวม 178 เตียง มีความมิดชิด สะดวกสบาย และความปลอดภัย มีการปรับปรุงระบบถ่ายเทอากาศ ระบบดูแลผู้ป่วยแบบเทเลเมดิซีน มีห้องความดันลบ ติดตั้งระบบออกซิเจน และกล้องวงจรปิด ผ่านการตรวจสอบประเมินมาตรฐานจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเรียบร้อยแล้ว สามารถเปิดบริการรองรับผู้ป่วยได้ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การเปิดห้องไอซียูสนามโรงพยาบาลสนามกองทัพบก ใช้หลักการเดียวกับโรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานี โดยจัดให้มีห้องแยก เครื่องออกซิเจน High flow ติดตั้งระบบไหลเวียนออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย ระบบควบคุม กล้องวงจรปิด เครื่องมอนิเตอร์ติดตามอาการ ระบบเทเลเมดิซีน โดยโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง สนับสนุนเครื่องมือแพทย์ 45 ล้านบาท ค่าปรับปรุงสถานที่ 25 ล้านบาท การวางระบบเครือข่ายและไอที 4 ล้านบาท จัดทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดง ซึ่งเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นอยู่ในระดับเป็นสีเขียวจะส่งต่อไป Hospitel หรือโรงพยาบาลสนามอื่นต่อไป