วันที่ 27 ธันวาคม 2561 ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทูร อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พ.ต.ต.หญิง รมยง สุรกิจบรรหาร รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กรมประมง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการปกครอง สำนักงบประมาณ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ว่า จากมติที่ประชุม คบต. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 โดยกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำไว้ 3 บัญชีคือ 1. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 28 งาน (บัญชีที่ 1) 2. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 3 งาน (บัญชีที่ 2) และ 3. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน (บัญชีที่ 3) แต่ไม่ได้กำหนดให้งานกรรมกรเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ทำให้นายจ้างหรือสถานประกอบการในประเทศสามารถรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายจากทุกประเทศเข้ามาทำงานได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และไม่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้นายจ้างหรือสถานประกอบการเปลี่ยนวิธีการประกอบธุรกิจแบบดั้งเดิมซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานคนไปสู่การบริหารจัดการ และนำเทคโนโลยีมาใช้แทนตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 การประชุมในวันนี้ เป็นการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณากำหนดงานกรรมกรเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข ให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น โดยเพิ่มเติมเป็นบัญชีสี่ท้ายร่างประกาศกระทรวงแรงงาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่เสนอ และกำหนดจัดประชุมอีกภายใน 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการมีจำนวน 33 คน มีอธิบดีกรมการจัดหางานเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอีก 28 หน่วยงาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรอง และเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวต่อคณะกรรมการ หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รมว.แรงงาน กล่าว